
ฟิลิปปินส์
สร้างเมื่อ : วันพฤหัสบดี 26 ธันวาคม 2567, 14:55:07
แก้ไขเมื่อ : วันพฤหัสบดี 26 ธันวาคม 2567, 14:55:07
เข้าชม : 260
ไฟล์ PDF
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
Philippines
Philippines

-
เมืองหลวง:
กรุงมะนิลา - ที่ตั้ง:
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย 7,641 หมู่เกาะ พื้นที่ประมาณ 300,000 ตร.กม. (3 ใน 5 ของไทย)
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับทะเลจีนใต้ และช่องแคบ Bashi (คั่นไต้หวัน)
ทิศใต้ ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลเซเลเบส
ทิศตะวันออก ติดกับทะเลฟิลิปปินส์
ทิศตะวันตก ติดกับทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก (ทะเลจีนใต้)
- ภูมิประเทศ:
เป็นหมู่เกาะ แบ่งเป็น 3 หมู่เกาะหลักใน 3 ภาค : ภาคเหนือ เกาะลูซอนเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีที่ราบ 2 แห่งคือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำคากายันและที่ราบมะนิลาในตอนกลาง ซึ่งเป็นที่ราบใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นที่ตั้งเมืองหลวงมะนิลา ภาคกลาง หมู่เกาะวิสายาส์ ประกอบด้วย เกาะมินโดโร มาสตาเบ ซามาร์ ปาไน เนกรอส เซบู โปโซล และเลเต ภาคใต้ เกาะมินดาเนา มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ภูเขาสูงที่สุด : ภูเขาอาโป บนเกาะมินดาเนา ความสูง 9,692 ฟุต มีชายฝั่งทะเลยาวถึง 36,289 กม. ฟิลิปปินส์อยู่ในเขต Pacific’s Ring of Fire ซึ่งเป็นเขตแผ่นดินไหวรุนแรงและแนวภูเขาไฟ มีภูเขาไฟที่ยังไม่ดับจำนวน 24 ลูก
- ภูมิอากาศ:
ฟิลิปปินส์อยู่ในเขตมรสุม ทำให้มีสภาพอากาศแปรปรวนและฝนตกหนักอันเนื่องจากพายุและไต้ฝุ่นปีละประมาณ 20 ลูก อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ระหว่าง 26-27 องศาเซลเซียส ฝนตกชุกตลอดปี แบ่งเป็น 3 ฤดู : 1) ฤดูร้อน (มี.ค.-พ.ค.) อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 35 องศาเซลเซียส โดยกรุงมะนิลาจะร้อนและมีฝุ่นละอองมากที่สุด 2) ฤดูฝน (มิ.ย.-ต.ค.) ปริมาณน้ำฝนอยู่ที่ประมาณ 5,000 มม. โดยมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน ทำให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ติดต่อกันหลายวัน รวมถึงในช่วง ก.ค.-ต.ค. มีลมพายุหลายลูกก่อตัวขึ้นทางทิศตะวันออกของเกาะลูซอนและหมู่เกาะวิสายาส์ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาของฟิลิปปินส์แบ่งความแรงของพายุเป็น 4 ระดับ หากพายุมีความแรงถึงระดับ 2 ขึ้นไป โรงเรียน ราชการ และห้างร้านต่าง ๆ จะหยุดทำการชั่วคราว และ 3) ฤดูหนาว (พ.ย.-ก.พ.) อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 17-28 องศาเซลเซียส โดยหนาวที่สุดในช่วง ธ.ค. มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน เป็นลมเย็นและแห้งแล้งอาจทำให้เกิดฝนตกบางครั้ง
- ประชากร:
119.1 ล้านคน (2567) มากเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย และมากเป็นอันดับ 13 ของโลก มีประมาณ 180 ชาติพันธุ์ แบ่งเป็น ตากาล็อก 26% วิสายาส์ 14.3% ซีบูเอโน 8% อิลโลคาโน 8% ฮีลีไกโนน 7.9% บีโคล 6.5% วารี 3.8% ชาติพันธุ์ท้องถิ่นอื่น ๆ 25.3% ชาติพันธุ์ต่างชาติ 0.2% อัตราการเพิ่มขึ้น 1.6% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : อายุ 0-14 ปี 30.2% อายุ 15-64 ปี 64.3% อายุ 65 ปีขึ้นไป 5.6% อายุขัยเฉลี่ย 70.8 ปี ชาย 67.3 ปี หญิง 74.5 ปี
- ศาสนา:
คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 78.8% คริสต์อื่น ๆ 6.5% อิสลาม 6.4% ศาสนาอื่น ๆ 8.2% และไม่นับถือศาสนา 0.1%
- ภาษา:
ฟิลิปิโนหรือตากาล็อกและอังกฤษเป็นภาษาราชการ แต่มีภาษาท้องถิ่นมากกว่า 170 ภาษา เกือบทั้งหมดเป็นตระกูลภาษาย่อยมาลาโย-โปลินีเซียนตะวันตก นอกจากนี้ ยังมีภาษาต่างประเทศที่ใช้กันมากในฟิลิปปินส์อีก 8 ภาษา ได้แก่ สเปน จีนฮกเกี้ยน จีนแต้จิ๋ว อินโดนีเซีย ชินด์ปัญจาบ เกาหลี อาหรับ ชาวฟิลิปปินส์ยังใช้ภาษาที่เรียกว่า ทากรีส (Tagalog + English) คือการพูดภาษาตากาล็อกผสมกับภาษาอังกฤษในการสนทนา
- การศึกษา:
อัตราการรู้หนังสือ 96.3% งบประมาณด้านการศึกษา 3.6% ของ GDP (2565) การศึกษาภาคบังคับ 6 ปี
- การก่อตั้งประเทศ:
ชนเผ่าแรกที่อพยพเข้ามาในฟิลิปปินส์ คือ เผ่าปิกมี่ ซึ่งเป็นพวกหาของป่าและไม่มี ที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต่อมาชนเผ่ามาเลย์อพยพเข้ามาและนำวัฒนธรรมอิสลามมาสู่ฟิลิปปินส์ หลังจากนั้นนายเฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน นักเดินเรือชาวโปรตุเกสสำรวจพบหมู่เกาะฟิลิปปินส์เมื่อปี 2064 และตั้งชื่อว่า “ฟิลิปปินส์” เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน ฟิลิปปินส์กลายเป็นอาณานิคมของสเปนนานถึง 327 ปี ชาวฟิลิปปินส์พยายามต่อสู้กับสเปนจนได้รับเอกราชเมื่อ 12 มิ.ย.2411 และตั้งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ แต่ก็ยังไม่มีผลสมบูรณ์ เพราะสเปนแพ้สงครามและยกฟิลิปปินส์ให้สหรัฐฯ เมื่อ 10 ธ.ค.2411 ฟิลิปปินส์จึงตกอยู่ใต้การปกครองของสหรัฐฯ เมื่อปี 2445 และได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อ 4 ก.ค.2489 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
- วันชาติ:
12 มิ.ย - การเมือง:
ระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบสาธารณรัฐ ประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล ซึ่ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี จำกัดให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อ 9 พ.ค.2565 นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ชนะการเลือกตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2565-2571
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมีอำนาจแต่งตั้ง ครม. และ ออท. รวมทั้งควบคุมฝ่ายบริหาร กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ แต่ไม่มีอำนาจยุบสภา
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ทำหน้าที่พิจารณากฎหมายและข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศ ให้ความเห็นชอบงบประมาณและภาษี รวมถึงพิจารณาการปลดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง ประกอบด้วย 2 สภา คือ 1) วุฒิสภามีสมาชิก 24 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระไม่เกิน 6 ปี และไม่เกิน 2 สมัย โดยมีการเลือกตั้งใหม่กึ่งหนึ่งทุก 3 ปี และ 2) สภาผู้แทนราษฎร (สส.) มีสมาชิก 316 คน (253 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอีก 63 คนมาจากการเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อจากตัวแทนสาขาอาชีพต่าง ๆ) มีวาระ 3 ปี และ ไม่เกิน 3 สมัย
ฝ่ายตุลาการ : ศาลฎีกา (ศาลสูงสุด) ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นมีระดับเทศบาลและระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีศาลศาสนาอิสลาม (Sharia Court) ในเขตปกครองตนเองบังสาโมโรเพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติของศาสนาอิสลามสำหรับชาวฟิลิปปินส์มุสลิมในพื้นที่โดยเฉพาะ ทั้งนี้ ศาลฎีกา ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาศาลฎีกา 14 คน ซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีและผ่านการลงมติจากรัฐสภา มีหน้าที่พิจารณาคดีการเมือง คดีอุทธรณ์ คดีฎีกา รวมถึงคดีที่มีความสำคัญระดับประเทศ เช่น การสั่งปลดประธานาธิบดี หรือการระงับการประกาศใช้กฎอัยการศึก
องค์กรอิสระ : คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจสอบการประพฤติมิชอบ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
พรรคการเมืองสำคัญ : ระบบพรรคการเมืองของฟิลิปปินส์เปลี่ยนเป็นระบบหลายพรรค หลังเหตุการณ์โค่นอำนาจอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เมื่อปี 2529 พรรคการเมืองในฟิลิปปินส์พัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัญหาภายในพรรค สมาชิกพรรคขาดความจงรักภักดีต่อพรรค ต้องการมีอำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง สมาชิกพรรคมีอิสระค่อนข้างมากในการเลือกพรรคและเปลี่ยนพรรคที่สังกัด การหาเสียงของแต่ละพรรคจะชูนโยบายที่เป็นจุดเด่น หาเสียงสนับสนุนจากกลุ่มผลประโยชน์และใช้อิทธิพลทางการเมือง พรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ พรรค Lakas-CMD พรรค Party-list Coalition Foundation พรรค PDP-Laban พรรค National Unity Party และพรรค Nacionalista Party
- เศรษฐกิจ:
ระบบเศรษฐกิจฟิลิปปินส์เป็นแบบเสรีโดยใช้กลไกตลาด สภาพเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพคล้ายกับไทย ภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญที่สุดคือ ภาคบริการ รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ฟิลิปปินส์มีข้อได้เปรียบทางการค้าและการลงทุน จากที่ตั้งบนเส้นทางการค้าระหว่างทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก มีตลาดการบริโภคภายในประเทศขนาดใหญ่จากประชากรจำนวนมาก ขนาดเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉลี่ย 4-6% ต่อปี แรงงานในประเทศมีคุณภาพ และมีอัตราค่าจ้างในระดับต่ำ จึงเป็นปัจจัยหลักที่ดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ฟิลิปปินส์ยังมีธุรกิจบริการบริหารจัดการระบบงานธุรกิจ (Business Process Outsourcing-BPO) ที่โดดเด่น ได้แก่ การบริการข้อมูลลูกค้าทางโทรศัพท์ (Call Center) ซึ่งมีปัจจัยจากแรงงานฟิลิปปินส์ที่มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ และมีสำเนียงการใช้ภาษาอังกฤษที่ ฟังง่ายกว่าคู่แข่งทางธุรกิจอย่างอินเดีย ต้นทุนการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำประปา มีราคาถูกกว่าประเทศที่เป็นฐานการผลิตในหลายประเทศ
การส่งออกแรงงานไปทำงานในต่างประเทศเป็นแหล่งรายได้หลักของฟิลิปปินส์ คิดเป็น 8.9% ของ GDP ประเทศที่นิยมไปทำงาน ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ ญี่ปุ่น และอิสราเอล สาขาอาชีพที่นิยม ได้แก่ แม่บ้าน ก่อสร้างและโยธา การบริการ ท่องเที่ยว โรงแรม ปิโตรเคมี วิศวกร แพทย์ พยาบาล ลูกเรือ และอาชีพที่ใช้ทักษะภาษาอังกฤษ สำหรับแรงงานฟิลิปปินส์ในไทยมากกว่า 70% ทำงานในภาคการศึกษา (ด้านการสอนภาษาอังกฤษ) รองลงมา ได้แก่ งานในบริษัทเอกชน และงานบริการในโรงแรมหรือภัตตาคาร
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : เปโซฟิลิปปินส์ (PHP)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 57.87 เปโซ (ต.ค.2567)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 1.72 เปโซ (ต.ค.2567)
- ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ:
ระบบเศรษฐกิจฟิลิปปินส์เป็นแบบเสรีโดยใช้กลไกตลาด สภาพเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพคล้ายกับไทย ภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญที่สุดคือ ภาคบริการ รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ฟิลิปปินส์มีข้อได้เปรียบทางการค้าและการลงทุน จากที่ตั้งบนเส้นทางการค้าระหว่างทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก มีตลาดการบริโภคภายในประเทศขนาดใหญ่จากประชากรจำนวนมาก ขนาดเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉลี่ย 4-6% ต่อปี แรงงานในประเทศมีคุณภาพ และมีอัตราค่าจ้างในระดับต่ำ จึงเป็นปัจจัยหลักที่ดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ฟิลิปปินส์ยังมีธุรกิจบริการบริหารจัดการระบบงานธุรกิจ (Business Process Outsourcing-BPO) ที่โดดเด่น ได้แก่ การบริการข้อมูลลูกค้าทางโทรศัพท์ (Call Center) ซึ่งมีปัจจัยจากแรงงานฟิลิปปินส์ที่มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ และมีสำเนียงการใช้ภาษาอังกฤษที่ ฟังง่ายกว่าคู่แข่งทางธุรกิจอย่างอินเดีย ต้นทุนการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำประปา มีราคาถูกกว่าประเทศที่เป็นฐานการผลิตในหลายประเทศ
การส่งออกแรงงานไปทำงานในต่างประเทศเป็นแหล่งรายได้หลักของฟิลิปปินส์ คิดเป็น 8.9% ของ GDP ประเทศที่นิยมไปทำงาน ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ ญี่ปุ่น และอิสราเอล สาขาอาชีพที่นิยม ได้แก่ แม่บ้าน ก่อสร้างและโยธา การบริการ ท่องเที่ยว โรงแรม ปิโตรเคมี วิศวกร แพทย์ พยาบาล ลูกเรือ และอาชีพที่ใช้ทักษะภาษาอังกฤษ สำหรับแรงงานฟิลิปปินส์ในไทยมากกว่า 70% ทำงานในภาคการศึกษา (ด้านการสอนภาษาอังกฤษ) รองลงมา ได้แก่ งานในบริษัทเอกชน และงานบริการในโรงแรมหรือภัตตาคาร
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : เปโซฟิลิปปินส์ (PHP)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 57.87 เปโซ (ต.ค.2567)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 1.72 เปโซ (ต.ค.2567)
- การทหาร:
กองทัพฟิลิปปินส์ประกอบด้วย ทบ. ทร. และ ทอ. ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการกองทัพ รมว.กระทรวงกลาโหม เป็นรองผู้บัญชาการกองทัพ และเสนาธิการกองทัพคือ ผบ.ทสส. ซึ่งรับผิดชอบด้านยุทธการในนามประธานาธิบดี ผบ.ทสส.คนปัจจุบันคือ พล.ท. โรมิโอ ซาเทอร์นิโน บรอว์เนอร์ จูเนียร์ (ดำรงตำแหน่งเมื่อ 21 ก.ค.2566)
งบประมาณด้านการทหาร : 6,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 2566) กำลังพลรวม 146,250 นาย แบ่งเป็น : ทบ. 103,200 นาย ทร. 24,450 นาย ทอ. 17,600 นาย กกล.อื่น ๆ ที่มิใช่ทหาร 26,000 นาย กกล.สำรอง 131,000 นาย
ยุทโธปกรณ์สำคัญ : อาวุธปล่อยนำวิถีประเภทพื้นสู่พื้น 1 เครื่อง อาวุธปล่อยนำวิถีประเภทพื้นสู่อากาศ 1 เครื่อง อาวุธปล่อยนำวิถีประเภทอากาศสู่อากาศ 1 เครื่อง ถ.เบา Scorpion 7 คัน ถ.หลัก 54 คัน รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ 387 คัน เรือฟริเกต 2 ลำ เรือลาดตระเวนและตรวจการณ์ชายฝั่งสำหรับ ทร. 58 ลำ เรือยกพลขึ้นบก 2 ลำ เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ 4 ลำ เรือระบายพล 15 ลำ เรือส่งกำลังบำรุง 4 ลำ บ.FA-50PH 1 ฝูง บ.โจมตีภาคพื้นดิน 1 ฝูง บ.ลาดตระเวน 1 ฝูง บ.ค้นหาและกู้ภัย 4 ฝูง บ.ลำเลียง 4 ฝูง บ.ฝึกซ้อม 4 ฝูง อากาศยานไร้คนขับ 1 ฝูง ฮ.โจมตี 2 เครื่อง บ.ขับไล่ 39 เครื่อง บ.ติดตั้งขีปนาวุธพิสัยใกล้ AIM-9L Sidewinder 1 ลำ บ.ติดตั้งขีปนาวุธพิสัยปานกลาง AGM-65 Maverick 1 เครื่อง เรือลาดตระเวนและตรวจการณ์ชายฝั่งสำหรับหน่วยยามชายฝั่ง 80 ลำ ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์มีแผนพัฒนาปรับปรุงกองทัพระยะ 15 ปี งบประมาณรวม 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ Horizon I (ปี 2555-2560) Horizon II (ปี 2561-2565) และ Horizon III (ปี 2566-2572)
- สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ:
ที่สำคัญ เช่น ADB, APEC, ARF, ASEAN, BIS, CD, CICA (observer), CP, EAS, FAO, G-24, G-77, IAEA, IBRD, ICAO, ICC (national committees), ICCt, ICRM, IDA, IFAD, IFC, IFRCS, IHO, ILO, IMF, IMO, IMSO, Interpol, IOC, IOM, IPU, ISO, ITSO, ITU, ITUC (NGOs), MIGA, MINUSTAH, NAM, OAS (observer), OPCW, PCA, PIF (partner), RCEP, UN, UNCTAD, UNESCO, UNHCR, UNIDO, Union Latina, UNMIL, UNMOGIP, UNOCI, UNWTO, UPU, World Bank, WCO, WFTU (NGOs), WHO, WIPO, WMO และ WTO
- การขนส่งและโทรคมนาคม:
ท่าอากาศยานนานาชาติที่สำคัญ คือ ท่าอากาศยานนินอยอากิโนในกรุงมะนิลา เส้นทางรถไฟระยะทาง 133.09 กม. ถนนระยะทาง 208,329 กม. ทางหลวง 34,352.40 กม. และมีการเดินทางโดยเรือเฟอร์รีเชื่อมระหว่างเกาะต่าง ๆ โทรคมนาคม โทรศัพท์เคลื่อนที่ 168 ล้านเลขหมาย (ปี 2565) รหัสโทรศัพท์ +63 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 83% ของประชากรทั้งหมด (ปี 2566) รหัสอินเทอร์เน็ต .ph เว็บไซต์ การท่องเที่ยว : https://philippines.travel/
- การเดินทาง:
สายการบินไทยมีเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-มะนิลา ทุกวัน สายการบินฟิลิปปินส์ที่บินตรงมาไทย : ฟิลิปปินส์แอร์ไลน์ และเซบูแปซิฟิก ระยะเวลาในการบิน 3 ชม. 30 นาที เวลาที่ฟิลิปปินส์เร็วกว่าไทย 1 ชม. นักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าฟิลิปปินส์ได้โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง
- สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม:
1) สถานการณ์ความขัดแย้งบริเวณพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนยังมีแนวโน้มตึงเครียดเพิ่มขึ้น จากการเปลี่ยนนโยบายไปพึ่งพาสหรัฐฯ ด้านความมั่นคงและทางทหารมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มกิจกรรมทางทหารพหุภาคี
2) การเตรียมความพร้อมก่อนรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2569 ซึ่งฟิลิปปินส์จะยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นทะเลจีนใต้ และพยายามสร้างแนวร่วมต่อต้านอิทธิพลจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นที่มีประเด็นพิพาทเช่นเดียวกัน
3) ความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพมินดาเนา โดยเร่งผลักดันการเลือกตั้งในเขตปกครองตนเองบังสาโมโร (Bangsamoro in the Autonomous Region in Muslim Mindanao-BARMM) ให้แล้วเสร็จในปี 2568 จากเดิมกำหนดไว้เมื่อปี 2565 แต่เลื่อนออกไปจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
- ความสัมพันธ์ไทย-ฟิลิปปินส์:
ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อ 12 ก.ย.2492 ในฐานะมิตรประเทศที่ร่วมก่อตั้งอาเซียน และเป็นแนวร่วมที่สนับสนุนบทบาทซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ โดยฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 75 ปี เมื่อปี 2567 ความสัมพันธ์ทวิภาคีราบรื่นและใกล้ชิดมาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านการทหาร ส่วนด้านเศรษฐกิจอยู่ในลักษณะพันธมิตรเชิงแข่งขันทั้งด้านการค้าและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ด้านเศรษฐกิจ ปี 2566 ฟิลิปปินส์เป็นคู่ค้าอันดับ 14 ของไทย และอันดับ 5 ในอาเซียน มีมูลค่ารวม 383,645 ล้านบาท ไทยส่งออกมูลค่า 275,378 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 108,267 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 167,111 ล้านบาท ขณะที่การค้าห้วง ม.ค.-ส.ค.2567 มีมูลค่า 257,731 ล้านบาท ไทยส่งออกมูลค่า 178,892 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 78,838 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 100,054.38 ล้านบาท
สินค้าส่งออกของไทย : รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องจักรกล ข้าว เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
สินค้านำเข้าจากฟิลิปปินส์ : เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
ด้านการลงทุน โครงการของฟิลิปปินส์ที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เมื่อปี 2566 มีจำนวน 4 โครงการ มูลค่า 378 ล้านบาท
ด้านการท่องเที่ยว ชาวฟิลิปปินส์เดินทางมาท่องเที่ยวไทย เมื่อปี 2566 มากเป็นอันดับที่ 19 จำนวน 461,251 คน ในห้วง ม.ค.-ก.ย.67 มีจำนวน 420,812 คน
ข้อตกลงสำคัญ : ความช่วยเหลือทางทหาร (14 มี.ค.2490) ความตกลงว่าด้วยไมตรี-พาณิชย์-การเดินเรือ (14 มิ.ย.2492) บริการเดินอากาศ (27 เม.ย.2496) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (31 ก.ค.2505) ความตกลงว่าด้วยที่ดิน (21 พ.ค.2506) ความตกลงทางวัฒนธรรมไทย-ฟิลิปปินส์ (22 ก.ค.2518) ความร่วมมือด้านการเกษตร (29 ส.ค.2522) การส่งผู้ร้ายข้ามแดน (16 มี.ค.2524) การเว้นการเก็บภาษีซ้อน (14 ก.ค.2525) ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ (11 เม.ย.2526) การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ฟิลิปปินส์ (24 ส.ค.2535) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (24 มี.ค.2536) การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (30 ก.ย.2538) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางทหาร (20 ส.ค.2540) ความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม (18 ธ.ค.2541) การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมความร่วมมือทวิภาคี (24 ส.ค.2542) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขจัดคราบน้ำมัน (23 พ.ย.2542) ความตกลงทางการค้า (27 พ.ย.2542) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือการวิจัยและพัฒนา การเกษตร (30 พ.ค.2543) สนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ว่าด้วยการโอนตัว ผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (12 ต.ค.2544) ความตกลงแลกเปลี่ยนข้อสนเทศ และจัดตั้งวิธีการดำเนินการในการสื่อสาร (5 พ.ย.2545) บันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือด้านการเกษตร (19 ต.ค.2546) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (19 ต.ค.2546) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อขายข้าวไทย-ฟิลิปปินส์ (8 เม.ย.2553) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนครู (10 ก.พ.2558) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการปราบปรามยาเสพติด (20 ก.ย.2560)
-
คณะรัฐมนตรี:
คณะรัฐมนตรีฟิลิปปินส์
ประธานาธิบดี Ferdinand Marcos Jr.
รองประธานาธิบดี Sara Duterte
รมว.กระทรวงการต่างประเทศ Enrique Manalo
รมว.กระทรวงเกษตร Francisco Tiu Laurel Jr.
รมว.กระทรวงงบประมาณและการบริหาร Amenah Pangandaman
รมว.กระทรวงศึกษาธิการ Juan Edgardo Angara
รมว.กระทรวงพลังงาน Raphael Lotilla
รมว.กระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ Toni Yulo-Loyzaga
รมว.กระทรวงการคลัง Ralph Recto
รมว.กระทรวงสาธารณสุข Teodoro Herbosa
รมว.กระทรวงมหาดไทยและการปกครองท้องถิ่น Juanito Victor Remulla Jr.
รมว.กระทรวงยุติธรรม Jesus Crispin Remulla
รมว.กระทรวงแรงงานและการจ้างงาน Bienvenido Laguesma
รมว.กระทรวงกลาโหม Gilberto Teodoro Jr.
รมว.กระทรวงโยธาธิการและทางหลวง Manuel Bonoan
รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Renato Solidum Jr.
รมว.กระทรวงสวัสดิการสังคมและการพัฒนา Rexlon Gatchalian
รมว.กระทรวงการปฏิรูปการเกษตร Conrado Estrella III
รมว.กระทรวงการท่องเที่ยว Maria Esperanza Christina Frasco
รมว.กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม Cristina Aldeguer-Roque (รักษาการ)
รมว.กระทรวงคมนาคม Jaime Bautista
รมว.กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร Ivan John Enrile Uy
รมว.กระทรวงความมั่นคงมนุษย์และการพัฒนาชนบท Jose Acuzar
รมว.กระทรวงกิจการแรงงานข้ามชาติ Hans Leo Cacdac
---------------------------------------------
(ต.ค.2567)