
องค์การการค้าโลก
สร้างเมื่อ : วันอาทิตย์ 29 ธันวาคม 2567, 23:10:10
แก้ไขเมื่อ : วันอาทิตย์ 29 ธันวาคม 2567, 23:10:10
เข้าชม : 440
องค์การการค้าโลก
WTO
WTO

เว็บไซต์ www.wto.org
ที่ตั้งสำนักงาน เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์
ก่อตั้งเมื่อ 1 ม.ค.2538
สมาชิก 166 ประเทศ
ผู้อำนวยการ นาง Ngozi Okonjo-Iweala ชาวไนจีเรีย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 มี.ค.2564
ภารกิจ WTO ถูกจัดตั้งเมื่อ 1 ม.ค. 2538 โดยเป็นการแปรสภาพจากความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้า และภาษีศุลกากร (General Agreement on Tariffs and Trade-GATT) ซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการประชุ ม “United Nations Monetary and Financial Conference” หรือ Bretton Woods Conference ที่เบรตตันวูดส์ สหรัฐฯ โดยการจัดตั้ง GATT มีเป้าหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพการค้าโลกช่วงหลัง สงคราม ทั้งนี้ สหรัฐฯ นำเสนอแผนพัฒนาข้อตกลง (convention) ทางการค้าที่ทำหน้าที่กำกับและลด ข้อจำกัดด้านการค้าระหว่างประเทศช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบคลุมประเด็นด้านภาษี สิทธิพิเศษทาง การค้า ข้อจำกัดเชิงปริมาณของสินค้า การอุดหนุนสินค้าของรัฐ รวมถึงข้อตกลงในการส่งสินค้าระหว่าง ประเทศ ซึ่งแผนนี้นำไปสู่ความพยายามจัดตั้ง “องค์การการค้าระหว่างประเทศ” (International Trade Organisation-ITO) อย่างไรก็ดี การจัดตั้ง ITO ไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเมืองภายในของ แต่ละประเทศ จึงมีการประนีประนอม และเห็นพ้องในการปฏิบัติตามความตกลง GATT ที่มีความยืดหยุ่น มากกว่าการจัดตั้ง ITO
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจช่วงหลังสงครามเย็นมีความซับซ้อนมากขึ้นทั้ง ด้านการค้า การบริการ การลงทุน รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมิได้อยู่ในกฎระเบียบของ GATT จึงเกิดการ เปลี่ยนผ่านจาก GATT ไปสู่ WTO โดยเป้าหมายในการปรับตัวครั้งนี้ คือ การตอบสนองต่อการเปิดเสรีทางการค้า สนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า การบริการ และการแข่งขันในตลาดอย่างเสรีระหว่างประเทศ โดย ปราศจากการควบคุมจากรัฐบาลในแต่ละประเทศ อีกทั้งภารกิจใหม่ของ WTO คือ การยกเลิกการอุดหนุนการ ส่งออกสินค้าเกษตรและสิ่งทอ การจัดการกับอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี การสนับสนุนทางวิชาการเกี่ยวกับ การค้าและมาตรการการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้า รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า
WTO มีหน้าที่กำหนดนโยบายและควบคุมการดำเนินงานของสมาชิกในเรื่องต่าง ๆ เรียง ตามลำดับความสำคัญ คือ ที่ประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Conference) คณะมนตรีใหญ่ (General Council) คณะมนตรี (Council) และคณะกรรมการต่าง ๆ (Committee) ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนของสมาชิก WTO โดยมีฝ่ายเลขานุการช่วยด้านการบริหารงานทั่วไป อีกทั้งเป็นเวทีในการเจรจาลดอุปสรรคและข้อกีดกัน ทางการค้า โดยอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เป็นธรรมทั้งประเทศเล็กและประเทศใหญ่ ภายใต้หลักการ ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส เท่าเทียม และใช้ระบบฉันทามติ เน้นการใช้มาตรการทางภาษีเพียงอย่างเดียวเป็น เครื่องมือในการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ รวมทั้งมีกระบวนการยุติข้อพิพาททางการค้าระหว่าง ประเทศ
WTO จะประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างน้อยทุก ๆ 2 ปี เพื่อทบทวนปัญหาในการปฏิบัติตาม ข้อผูกพันของสมาชิก และวางแนวทางเปิดเสรีทางการค้า โดยที่ผ่านมา มีการประชุมระดับรัฐมนตรี WTO แล้ว 13 ครั้ง ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรี WTO สมัยสามัญครั้งที่ 13 (Ministerial Conference-MC13) ที่สหรัฐ- อาหรับเอมิเรตส์เป็นเจ้าภาพ ระหว่าง 26 ก.พ.-2 มี.ค.2567 ที่ประชุมบรรลุข้อตกลงสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะปฏิญญาอาบูดาบี (Abu Dhabi Ministerial Declaration) ซึ่งมุ่งผลักดันและเสริมสร้างระบบ การค้าพหุภาคี เพื่อรับมือกับความท้าทายทางการค้าโลกยุคใหม่ โดยเน้นความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม และที่ประชุมเห็นพ้องการขยาย ระยะเวลาการยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรจากการส่งผ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้คอโมโรส และติมอร์-เลสเต เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของ WTO อย่างไรก็ดี ที่ประชุม MC13 ยังไม่สามารถบรรลุฉันทามติในประเด็นการอุดหนุนประมงและความมั่นคงทางอาหาร ส่วนการประชุม MC14 คาดว่าจะจัดขึ้นในห้วง มี.ค.2569
ข้อวิจารณ์ WTO
WTO ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไร้ประสิทธิภาพในการจัดระเบียบการค้าระดับพหุภาคีและ เรียกร้องให้มีการปฏิรูป WTO เฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2561 รวมทั้ง ถูกประชาคมระหว่างประเทศเรียกร้องกรณีประเทศกำลังพัฒนาเผชิญความยากลำบากในการเจรจาต่อรองกับ ประเทศพัฒนาแล้วในกรอบ WTO ตลอดจนการขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการค้าด้านบริการ และ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ WTO เร่งยกระดับการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา และแก้ไขปัญหากลไกระงับข้อพิพาททางการค้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ WTO อีกทั้งยังไม่สามารถ คัดเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์1 (Appellate Body) เพื่อตัดสินข้อพิพาททางการค้าได้
การเจรจาภายใต้ WTO และการปฏิรูป WTO จะทวีความท้าทายมากขึ้น เพราะประเทศ ตะวันตกพยายามใช้ WTO และบรรทัดฐานทางการค้า เป็นเครื่องมือสกัดกั้นจีนอย่างเข้มข้นมากขึ้น ทำให้ WTO มีแนวโน้มเผชิญอุปสรรคในการปฏิรูปองค์กรตามข้อเรียกร้องของทุกฝ่าย เนื่องจากสหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป (European Union-EU) เรียกร้องให้ WTO ปฏิรูปองค์กรในแนวทางที่แตกต่างจากความต้องการ ของประเทศกำลังพัฒนา เฉพาะอย่างยิ่งจีน โดยการประชุม G-20 เมื่อปี 2561 และ 2562 ยุโรปและสหรัฐฯ เน้นให้ WTO ปฏิรูปโครงสร้างการค้าให้สนับสนุนการค้าเสรีมากขึ้น และไม่สนับสนุนการให้เงินอุดหนุนหรือการ กีดกันทางการค้าจนบิดเบือนการค้าเสรี อาทิ การให้เงินอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ ภาคการผลิต การกีดกันภาคบริการ การลงทุน และการบังคับให้ถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีนัยถึงแนวทางของจีน
ขณะที่จีนเรียกร้องให้ WTO ให้ความสำคัญกับการค้าแบบพหุภาคีที่เป็นธรรม ปกป้อง ผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา สร้างกฎระเบียบที่มาจากการลงมติเอกฉันท์ของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะ จากประเทศกำลังพัฒนา และไม่ควรให้บางประเทศมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในประเด็นที่เป็นกติกาของ WTO ทั้งนี้ นาง Ngozi Okonjo-Iweala ผอ. WTO เตือน EU ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เมื่อ เม.ย. 2564 ว่า การที่ EU กับ ทั้งสองประเทศกำลังผลักดันกฎระเบียบใน WTO ให้เข้มงวดขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการให้เงินอุดหนุน ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงยกระดับความโปร่งใสของบทบาทรัฐวิสาหกิจต่อเศรษฐกิจที่เป็นการมุ่งกดดันจีน จะทำให้การปฏิรูป WTO ไม่ประสบผล และยิ่งจะทำให้จีน ซึ่งเป็นสมาชิก WTO ที่มีอิทธิพล ต่อต้านการปฏิรูป WTO มากขึ้น ดังนั้น ทั้ง EU ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ควรแสดงให้จีนเห็นว่า ไม่ได้ใช้กฎระเบียบใน WTO เป็น เครื่องมือทางการค้ากดดันจีน และควรเสนอแนะวิธีที่เหมาะสมพร้อมกับข้อเท็จจริง เพื่อให้จีนเห็นถึง ผลกระทบของนโยบายของตนเอง รวมถึงควรแสดงให้จีนเห็นว่า ประเทศตะวันตกยอมดำเนินการในประเด็น การอุดหนุนสินค้าเกษตรตามที่จีนเคยเรียกร้อง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้การปฏิรูป WTO มีความคืบหน้า
- ความสัมพันธ์ไทย-องค์การการค้าโลก:
ความสัมพันธ์กับไทย
ไทยเข้าเป็นสมาชิก WTO เมื่อ 28 ธ.ค.2537 เป็นสมาชิกลำดับที่ 59 และมีสถานะเป็น สมาชิกร่วมก่อตั้ง โดยไทยให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าพหุภาคีในกรอบ WTO เนื่องจากการค้าระหว่าง ประเทศเป็นแหล่งรายได้สำคัญ ซึ่งการเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO ทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากหลักการทั่วไป ของ WTO เช่น หลักการไม่เลือกปฏิบัติ ความโปร่งใส การคุ้มครองผู้ผลิตภายในด้วยภาษีศุลกากร รวมทั้ง ประโยชน์จากพันธกรณีที่สมาชิกผูกพันไว้ในความตกลงย่อยต่าง ๆ อาทิ การลดภาษีศุลกากร การอุดหนุน และ อุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ ตลอดจนไทยยังประสบความสำเร็จจากการยื่นฟ้องต่อ WTO กรณีการปกป้องทาง การค้าจนหลายประเทศยกเลิกนโยบายการปกป้องทางการค้าต่อไทย อาทิ กรณีอียิปต์ห้ามนำเข้าปลาทูน่า กระป๋องจากไทย และกรณีสหรัฐฯ ห้ามนำเข้ากุ้งจากไทย
1 สมาชิก WTO จะเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศและแต่งตั้งให้เป็นองค์กรอุทธรณ์ซึ่งมีสมาชิกรวม 7 คน ดำรง ตำแหน่งคราวละ 4 ปี หมุนเวียนกันทำหน้าที่พิจารณาตัดสินคดีพิพาทชั้นอุทธรณ์ของ WTO คดีละ 3 คน
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรอง นรม. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย เคยดำรง ตำแหน่ง ผอ. WTO คนที่ 4 วาระ 3 ปี ระหว่าง 1 ก.ย.2545-1 ก.ย.2548 ซึ่งเป็น ผอ. WTO คนแรกที่มาจาก ประเทศกำลังพัฒนาและจากภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ การดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นการแบ่งวาระกับนายไมเคิล มัวร์ จากนิวซีแลนด์ เนื่องจากเกิดข้อขัดแย้งในการคัดเลือก ผอ. WTO คนที่ 3 ที่ยืดเยื้อระหว่างประเทศ สมาชิก WTO ผู้แทนจากบังกลาเทศจึงเสนอให้มีการแบ่งวาระดำรงตำแหน่งกันคนละ 3 ปี ให้กับผู้ที่ได้รับการ คัดเลือกให้เหลือ 2 คนสุดท้าย เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้ง
นอกจากนี้ น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำ WTO และ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เข้ารับตำแหน่งประธานคณะมนตรีใหญ่ (General Council) ของ WTO เมื่อ 28 ก.พ.2562 ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของ WTO ทำหน้าที่กำกับดูแลภาพรวมการดำเนินงานของ องค์กร โดยมีวาระ 1 ปี นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความเชื่อถือและความ ไว้วางใจของนานาชาติต่อไทย ทั้งนี้ ปัจจุบัน นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟิลด์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตคณะผู้แทน ถาวรไทยประจำ WTO และ WIPO