
ติมอร์-เลสเต
สร้างเมื่อ : วันพฤหัสบดี 26 ธันวาคม 2567, 13:57:06
แก้ไขเมื่อ : วันพฤหัสบดี 26 ธันวาคม 2567, 13:57:06
เข้าชม : 438
ไฟล์ PDF
สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต
Timor-Leste
Timor-Leste

-
เมืองหลวง:
กรุงดิลี - ที่ตั้ง:
ตั้งอยู่บนหมู่เกาะซุนดาน้อย (Lesser Sundar) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปออสเตรเลีย และทางตะวันออกของหมู่เกาะอินโดนีเซีย ประกอบด้วย ดินแดน 3 ส่วน โดยดินแดนส่วนแรกเป็นเกาะติมอร์ด้านตะวันออก ส่วนที่สองอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะติมอร์เรียกว่าเขต Oecussi-Ambeno และส่วนที่สาม ประกอบด้วย หมู่เกาะ 2 แห่ง คือ หมู่เกาะ Palau Atauro และ Pulau Jaco ในทะเลอราฟูรา มีพื้นที่ประมาณ 14,874 ตร.กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับช่องแคบอุมไบ (Ombai Strait) และช่องแคบเวตาร์ (Wetar Strait)
ทิศใต้ ติดกับทะเลติมอร์
ทิศตะวันตก ติดกับ จ.ติมอร์ตะวันตกของอินโดนีเซีย
ทิศตะวันออก ติดกับ จ.นูซาเติงการาตะวันออกของอินโดนีเซีย
- ภูมิประเทศ:
มีที่ราบชายฝั่งและตอนกลางเป็นภูเขาสูงจำนวนมาก
- ภูมิอากาศ:
มี 2 ฤดู คือ ฤดูฝน และฤดูแล้ง บางพื้นที่มีภูมิอากาศแบบสะวันนาที่ได้รับลมแห้งแล้งจากทะเลทราย ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย
- ประชากร:
1,506,909 คน (ปี 2567) มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจาก Malayo-Polynesian และ Melanesian/Papuan มีชนกลุ่มน้อยชาวจีน อัตราส่วนประชากรจำแนกตาม อายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 38.7% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 56.8% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 4.5% อายุขัยโดยเฉลี่ย 70.5 ปี เพศชาย 68.9 ปี เพศหญิง 72.3 ปี
- ศาสนา:
คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกประมาณ 97.6% นิกายโปรเตสแตนต์ 2% อิสลาม 0.2% และอื่น ๆ 0.2%
- ภาษา:
ภาษาเตตุมและโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ ภาษาอินโดนีเซียและภาษาอังกฤษเป็นภาษาติดต่องาน และมีภาษาของชนเผ่าพื้นเมืองประมาณ 32 ภาษาที่ใช้กระจายอยู่ทั่วประเทศ อาทิ เตตุม (Tetum) กาโลเล (Galole) มัมแบ (Mambae) และเกมัก (Kemak)
- การศึกษา:
รัฐบาลติมอร์-เลสเตมีเป้าหมายให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยพัฒนาระบบการศึกษาทั้งด้านการบริหาร โครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษา ระหว่างปี 2554-2573 ขณะที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UN Development Programme-UNDP) สนับสนุนความช่วยเหลือด้านการวางแผนและพัฒนาระบบการศึกษา ระบบการศึกษาของติมอร์-เลสเตแบ่งเป็น ระดับก่อนประถมศึกษา 2 ปี ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรืออาชีวศึกษา 3 ปี และระดับมหาวิทยาลัย 4 ปี อัตราการรู้หนังสือของเยาวชน 84.3% (ปี 2566) งบประมาณด้านการศึกษา 3% ของ GDP (ปี 2564)
- การก่อตั้งประเทศ:
เคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส และได้ประกาศอิสรภาพจากโปรตุเกสเมื่อ 28 พ.ย.2518 หลังจากนั้นเพียง 9 วัน ก็ถูกอินโดนีเซียยึดครองและผนวกติมอร์ตะวันออกเป็นจังหวัดหนึ่งของอินโดนีเซียเมื่อปี 2519 ต่อมามีการต่อสู้เพื่อแยกตัวเป็นเอกราช โดยมีนายโฮเซ รามอส-ฮอร์ตา และนายซานานา กุสเมา เป็นผู้นำ จนกระทั่งรัฐบาลอินโดนีเซียยอมให้มีการลงประชามติเมื่อ 30 ส.ค.2542 โดยชาวติมอร์ตะวันออกกว่า 80% ออกเสียงสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช หลังจากนั้นเกิดการต่อสู้ภายในประเทศและมีเหตุรุนแรงระหว่างกลุ่มทหารที่นิยมอินโดนีเซียกับกลุ่มที่เรียกร้องเอกราช ทำให้ UN จัดตั้งกองกำลังนานาชาติ (International Force in East Timor-Leste หรือ INTERFET) เข้าไปรักษาสันติภาพเมื่อ 15 ก.ย.2542 สถานการณ์จึงกลับเข้าสู่ภาวะปกติและประกาศเอกราชเมื่อ 20 พ.ค.2545 ใช้ชื่อว่า ติมอร์-เลสเต (Timor-Leste) ซึ่งเป็นภาษาโปรตุเกส
- วันชาติ:
20 พ.ค. - การเมือง:
ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประมุขรัฐ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระ 5 ปี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย ประธานาธิบดีมีอำนาจยับยั้งกฎหมาย ยุบสภา และประกาศการเลือกตั้งใหม่ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้แก่ นายโฮเซ รามอส ฮอร์ตา รับตำแหน่งเมื่อ พ.ค.2565 การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปกำหนดจัดใน เม.ย.2570
ฝ่ายบริหาร : นรม. เป็นหัวหน้ารัฐบาล โดยประธานาธิบดีจะแต่งตั้งจากหัวหน้าพรรคการเมืองเสียงข้างมากหรือสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในรัฐสภา นรม.คนปัจจุบัน ได้แก่ นายซานานา กุสเมา สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ ก.ค.2566
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบสภาเดียว คือ สภาแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน จำนวน 65 ที่นั่ง วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ผลการเลือกตั้งเมื่อ 23 พ.ค.2566 พรรค CNRT ชนะการเลือกตั้ง จำนวน 31 ที่นั่ง จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรค Democratic Party (PD) จำนวน 6 ที่นั่ง พรรคอื่น ๆ ได้แก่ พรรค Revolutionary Front for an Independent East Timor (FRETILIN) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเก่า จำนวน 19 ที่นั่ง พรรค KHUNTO จำนวน 5 ที่นั่ง และพรรค PLP จำนวน 4 ที่นั่ง การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งต่อไปกำหนดจัดขึ้นในปี 2571
ฝ่ายตุลาการ : รัฐธรรมนูญติมอร์-เลสเตระบุว่า ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วย ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลท้องถิ่นจำนวน 6 แห่ง แต่ในทางปฏิบัติ ศาลอุทธรณ์ปฏิบัติหน้าที่แทนศาลฎีกา เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรด้านกฎหมายและงบประมาณในการพัฒนาระบบศาล
พรรคการเมือง : ระบบหลายพรรคการเมือง ที่สำคัญ ได้แก่ พรรค National Congress for Timorese Reconstruction (CNRT) พรรค Frente Revolucionária do Timor-Leste Independente (FRETILIN) พรรค People's Liberation Party (PLP) พรรค Partido Democrático (PD) และพรรค Khunto
- เศรษฐกิจ:
ติมอร์-เลสเตพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 95% ของรายได้ทั้งหมด และพยายามลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยมีแผนจะเดินหน้าพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูง (Upper Middle-Income) ภายในปี 2573 ซึ่งจะให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร โดยเฉพาะกาแฟ ประมง และอุตสาหกรรมแปรรูป
ติมอร์-เลสเตพยายามเร่งรัดการพัฒนาแหล่งพลังงาน Greater Sunrise เพื่อทดแทนรายได้จากแหล่งน้ำมันบายู-อูนดัน หมดลงเมื่อปี 2566 โดยคาดหวังจะลงนามข้อตกลงการเริ่มพัฒนากับออสเตรเลียได้ภายใน 2567 ทั้งนี้ ฝ่ายติมอร์-เลสเตเห็นควรนำก๊าซจาก Greater Sunrise (กลางทะเล) ไปแปรรูปที่ติมอร์-เลสเต ซึ่งห่างจากแหล่งก๊าซ 150 กม. และเปิดกว้างเจรจากับทุนต่างชาติอื่นๆ เช่น จีน เกาหลีใต้ และคูเวต ขณะที่ออสเตรเลียต้องการแปรรูปที่เมืองดาร์วิน ซึ่งห่างจากแหล่งก๊าซถึง 450 กม. มีความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์มากกว่า
สกุลเงิน : ปัจจุบัน ใช้ดอลลาร์สหรัฐ และเงินเหรียญท้องถิ่นที่เรียกว่า Centavos (100 เซนต์เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ)
- ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ:
ติมอร์-เลสเตพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 95% ของรายได้ทั้งหมด และพยายามลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยมีแผนจะเดินหน้าพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูง (Upper Middle-Income) ภายในปี 2573 ซึ่งจะให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร โดยเฉพาะกาแฟ ประมง และอุตสาหกรรมแปรรูป
ติมอร์-เลสเตพยายามเร่งรัดการพัฒนาแหล่งพลังงาน Greater Sunrise เพื่อทดแทนรายได้จากแหล่งน้ำมันบายู-อูนดัน หมดลงเมื่อปี 2566 โดยคาดหวังจะลงนามข้อตกลงการเริ่มพัฒนากับออสเตรเลียได้ภายใน 2567 ทั้งนี้ ฝ่ายติมอร์-เลสเตเห็นควรนำก๊าซจาก Greater Sunrise (กลางทะเล) ไปแปรรูปที่ติมอร์-เลสเต ซึ่งห่างจากแหล่งก๊าซ 150 กม. และเปิดกว้างเจรจากับทุนต่างชาติอื่นๆ เช่น จีน เกาหลีใต้ และคูเวต ขณะที่ออสเตรเลียต้องการแปรรูปที่เมืองดาร์วิน ซึ่งห่างจากแหล่งก๊าซถึง 450 กม. มีความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์มากกว่า
สกุลเงิน : ปัจจุบัน ใช้ดอลลาร์สหรัฐ และเงินเหรียญท้องถิ่นที่เรียกว่า Centavos (100 เซนต์เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ)
- การทหาร:
กองกำลังป้องกันติมอร์-เลสเต (Forças de Defesa de Timor Leste or Falintil-FDTL หรือ F-FDTL) เป็นกองกำลังขนาดเล็กและมีอาวุธเบา มีกำลังพล 2,250 นาย งบประมาณทางทหาร ปี 2566 จำนวน 55.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ:
ที่สำคัญ เช่น ADB, ARF, CPLP, FAO, G-77, ILO, IMF, Interpol, UN, UNCTAD, UNESCO และ WHO
- การขนส่งและโทรคมนาคม:
มีท่าอากาศยาน 4 แห่ง ท่าอากาศยานนานาชาติดิลี (Presidente Nicolau Lobato Airport) หรือ Comoro Airport เป็นท่าอากาศยานหลัก และท่าอากาศยานอื่น ๆ อีก 3 แห่ง มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ 8 แห่ง และท่าเรือดิลี ซึ่งเป็นท่าเรือโดยสารและขนส่งที่สำคัญของประเทศ ถนนมีความยาว 6,040 กม. โทรคมนาคม : โทรศัพท์พื้นฐาน 2,000 เลขหมาย (ปี 2565) และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1.5 ล้านเลขหมาย (ปี 2565) รหัสโทรศัพท์ +670 สถานีวิทยุแห่งชาติ 1 สถานี สถานีวิทยุของโบสถ์คริสต์ 2 สถานี สถานีวิทยุชุมชน 20 สถานี สถานีวิทยุ FM 2-3 สถานี และสถานีโทรทัศน์ที่เป็นสถานีที่มีการโฆษณาเพื่อการค้า 1 สถานี ออกอากาศเฉพาะในกรุงดิลี จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 507,000 คน (ปี 2564) หนังสือพิมพ์รายวันของรัฐบาล 3 ฉบับ หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์หลายฉบับ สื่อออนไลน์เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2549 แต่มีข้อจำกัดในการให้บริการนอกพื้นที่กรุงดิลี
- การเดินทาง:
สายการบินไทย ไม่มีเที่ยวบินตรงไปดิลี ต้องใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-สิงคโปร์-ดิลี หรือ กรุงเทพฯ-เดนปาซาร์ จ.บาหลี อินโดนีเซีย เพื่อต่อเครื่องบินไปท่าอากาศยานนานาชาติดิลี เวลาที่ดิลีเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชม. ผู้ถือหนังสือราชการและการทูตไทยได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างกัน ไทยกับติมอร์-เลสเตลงนามข้อตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับการท่องเที่ยว เมื่อห้วง มิ.ย.2567 หากมีผลบังคับใช้ ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาทั้งสองประเทศจะสามารถพำนักได้ไม่เกิน 30 วัน เว็บไซต์ท่องเที่ยวติมอร์-เลสเต https://www.timorleste.tl/
- สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม:
การเป็นสมาชิกอาเซียน ติมอร์-เลสเต อยู่ในสถานะประเทศผู้สังเกตการณ์ โดยอยู่ระหว่างปฎิบัติตามโรดแมปเพื่อเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนประเทศที่ 11 อย่างเต็มรูปแบบ อาเซียนได้วางแผนการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรม ในการช่วยเตรียมความพร้อม ขณะที่ผู้นำติมอร์-เลสเต เพิ่มการกระชับความร่วมมือกับสมาชิกอาเซียนและเข้าร่วมการประชุมอาเซียนที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง
- ความสัมพันธ์ไทย-ติมอร์-เลสเต:
ไทยเป็นประเทศที่ 3 ที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับติมอร์-เลสเต เมื่อ 20 พ.ค.2545 ต่อจากจีนและนอร์เวย์ นอกจากนี้ ไทยเป็นหนึ่งในชาติหลักที่ส่งทหารเข้าไปร่วมกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ช่วงหลังการลงประชามติระหว่างปี 2542-2545 ถึง 1,600 นาย
ไทยมีโครงการด้านการพัฒนาและความร่วมมือด้านการศึกษากับติมอร์-เลสเตหลายโครงการ ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างโรงเรียน 6 แห่ง พร้อมโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โครงการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านต้นแบบ 3 แห่ง โดยมีการอบรมบุคลากรในไทย โครงการของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ส่งอาสาสมัครไทยเข้าไปทำงานในโครงการหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนในวาระครบรอบ 20 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต การมอบทุนการศึกษาบัณฑิตศึกษา 20 ทุน โดยเน้นด้านการค้าความร่วมมือระหว่างเครือข่ายคาทอลิก โดยส่ง นศ.มาศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ด้านการค้า ปี 2566 ติมอร์-เลสเตเป็นคู่ค้าอันดับ 10 ของไทยในอาเซียน อันดับ 138 ในตลาดโลก มูลค่าการค้า 1,359.78 ล้านบาท ไทยส่งออก 1,359.25 ล้านบาท และนำเข้า 530,000 บาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 1,358.71 ล้านบาท และห้วง ม.ค.-ส.ค.2567 มีมูลค่าการค้ารวม 2,786.53 ล้านบาท ไทยส่งออก 454.58 ล้านบาท และนำเข้า 2,331.95 ล้านบาท ไทยเสียเปรียบดุลการค้า 1,877.36 ล้านบาท สินค้าส่งออกของไทย : อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว น้ำมันสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สินค้านำเข้าจากติมอร์-เลสเต : ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน สิ่งพิมพ์ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด
ข้อตกลงสำคัญ : ไทยและติมอร์-เลสเตจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการเมื่อ พ.ค.2560 และลงนามข้อตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับการท่องเที่ยว เมื่อห้วง มิ.ย.2567 ส่วนความร่วมมือด้านอื่น ๆ ติมอร์-เลสเตต้องการให้ไทยสนับสนุนความช่วยเหลือด้านการเกษตร ประมง การพัฒนาแหล่งพลังงาน การท่องเที่ยวและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ติมอร์-เลสเต มีแผนจะเดินหน้าพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูง (Upper Middle-Income) ภายในปี 2573 และให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร โดยเฉพาะกาแฟ ประมง และอุตสาหกรรมแปรรูป ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
-
คณะรัฐมนตรี:
นายโฮเซ รามอส ฮอร์ตา
(José Ramos-Horta)
ตำแหน่ง ประธานาธิบดีติมอร์-เลสเต
เกิด 26 ธ.ค.2492 (อายุ 76 ปี/ปี 2568)
สถานที่เกิด เมืองดิลี ติมอร์ตะวันออก (ปัจจุบัน คือ ติมอร์-เลสเต)
สถานภาพ หย่ากับภรรยา นาง Ana Pessoa Pinto มีบุตร 2 คน
การศึกษา - ปริญญาตรี ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย The Hague Academy
of International Law และมหาวิทยาลัย Antioch
- ปริญญาโท ด้านนโยบายต่างประเทศ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐฯ
พรรคการเมือง พรรค Congresso Nacional de Reconstrução de Timor (CNRT)
ประวัติการทำงาน
ปี 2541 - ผู้ประสานงานในกองกำลังกู้ชาติติมอร์
ปี 2544 - ประธานพรรค FRETILIN
ปี 2545-2549 - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ปี 2549-2550 - ดำรงตำแหน่ง นรม.ติมอร์-เลสเต คนที่ 2 นับจากได้รับเอกราช
ปี 2549 - ประธานและเลขาธิการพรรค FRETILIN
ปี 2550-2555 - ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีติมอร์-เลสเต คนที่ 2 นับจากได้รับเอกราช
2 ม.ค.2556 - ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ และหัวหน้าสำนักงานบูรณาการ
การสร้างสันติภาพแบบบูรณาการแห่งสหประชาชาติในกินีบิสเซา (UNIOGBIS)
20 พ.ค.2565 - ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีติมอร์-เลสเต โดยมีชัยชนะเหนือคู่แข่งสำคัญคือ อดีตประธานาธิบดีฟรานซิสโก กูเตร์เรสข้อมูลน่าสนใจ - นายโฮเซ รามอส ฮอร์ตา เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 2539 ร่วมกับ
นายคาร์ลอส ฟิลิเป ซีเมเนส เบโล จากการทำงานเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งใน ติมอร์ตะวันออกอย่างยุติธรรมและสันติ
- เคยถูกลอบสังหารเมื่อ ก.พ.2551 ได้รับบาดเจ็บสาหัส และถูกส่งต่อไปรักษาตัวที่
โรงพยาบาล Royal Darwin ออสเตรเลีย โดยเหตุลอบสังหารดังกล่าวน่าจะเป็น
การกระทำของกลุ่มกบฏที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนร้ายในอินโดนีเซีย
- สามารถพูดได้ 5 ภาษา ได้แก่ โปรตุเกส อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และเตตุม
- เป็นสมาชิกของ Global Leadership Foundation ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงาน
เพื่อสนับสนุนความเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตย ป้องกัน และแก้ไขความขัดแย้ง
ผ่านการไกล่เกลี่ยและส่งเสริมธรรมาภิบาลในรูปแบบของสถาบันประชาธิปไตย
สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม
------------------------------------------------
นายซานานา กุสเมา
(Xanana Gusmão)
ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีติมอร์-เลสเต
เกิด 20 มิ.ย.2489 (อายุ 78 ปี/2568)
สถานที่เกิด เมือง Manatuto ติมอร์ตะวันออก (ปัจจุบัน คือ ติมอร์-เลสเต)
สถานภาพ สมรสกับนาง Maria Emília Baptista เมื่อปี 2508 มีบุตร 2 คน หย่าเมื่อปี 2542 สมรสกับนาง Kristy Sword มีบุตร 3 คน แยกกันอยู่เมื่อปี 2558
การศึกษา ระดับมัธยมศึกษา
ประวัติการทำงาน
ปี 2511 - เข้ารับราชการทหาร สังกัดนักสำรวจและครู กองทัพโปรตุเกส
ปี 2518 - เข้าร่วมกองกำลังกู้ชาติติมอร์ (FALINTIL)
ปี 2524 - ผู้บัญชาการกองกำลังกู้ชาติติมอร์
ปี 2531 - หัวหน้าพรรคสภาแห่งชาติเพื่อการฟื้นฟูติมอร์ (CNRT)
ปี 2542 - โฆษกสภาที่ปรึกษาแห่งชาติของติมอร์-เลสเต (NCC)
ปี 2543-พ.ค.2545 - จนท.อาวุโสในคณะบริหารติมอร์-เลสเตของสหประชาชาติ
เม.ย.2545-พ.ค.2550 - ชนะการเลือกตั้งและขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของติมอร์-เลสเต (หลังจากได้รับเอกราช)
1 ก.ค.2566 - นรม.คนที่ 8 ของติมอร์-เลสเต (หลังจากได้รับเอกราช)
------------------------------------------------
คณะรัฐมนตรีติมอร์-เลสเต
ประธานาธิบดี José Ramos-Horta
นายกรัฐมนตรี Xanana Gusmão
รอง นรม. รมว.ประสานงานด้านเศรษฐกิจ Francisco Kalbuadi Lay
และ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม
รอง นรม. รมว.ประสานงานด้านการพัฒนาชนบท Mariano Sabino Lopes
ประธานสำนักงานคณะรัฐมนตรี Ágio Pereira
รมว.กระทรวงการคลัง Santina José Rodrigues F. Viegas Cardoso
รมว.กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือ Bendito Freitas
รมว.กระทรวงยุติธรรม Sérgio Hornai
รมว.กระทรวงการปกครอง Tomás do Rosário Cabral
รมว.กระทรวงสาธารณสุข Élia dos Reis Amaral
รมว.กระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา Dulce de Jesus Soares
รมว.กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม José Honório da Costa Pereira Jerónimo
รมว.กระทรวงกิจการทหารผ่านศึก Gil da Costa Monteiro
รมว.กระทรวงกิจการสาธารณะ Samuel Marçal
รมว.กระทรวงคมนาคมและการสื่อสาร Miguel Marques Gonçalves
รมว.กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม Filipus Nino Pereira
รมว.กระทรวงเกษตร ประมง และป่าไม้ Marcos da Cruz
รมว.กระทรวงกลาโหม Donaciano do Rosário Gomes
รมว.กระทรวงปิโตรเลียมและแร่ธาตุ Francisco Monteiro
รมว.กระทรวงมหาดไทย Francisco da Costa Guterres
รมว.กระทรวงการสร้างเอกภาพในสังคม Verónica das Dores
รมว.กระทรวงกิจการเยาวชน กีฬา ศิลปะ และวัฒนธรรม Nelyo Isaac Sarmento
รมว.กระทรวงการวางแผนและยุทธศาสตร์การลงทุน Gastão Francisco de Sousa
------------------------------------------------
(ต.ค.2567)