
เนปาล
สร้างเมื่อ : วันพฤหัสบดี 26 ธันวาคม 2567, 11:21:06
แก้ไขเมื่อ : วันพฤหัสบดี 26 ธันวาคม 2567, 11:21:06
เข้าชม : 341
ไฟล์ PDF
สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล
Nepal
Nepal

-
เมืองหลวง:
กาฐมาณฑุ - ที่ตั้ง:
ตั้งอยู่บนที่ราบสูงทางทิศใต้ของเทือกเขาหิมาลัย บริเวณเส้นละติจูดที่ 28 องศาเหนือ เส้นลองจิจูดที่ 84 องศาตะวันออก มีพื้นที่ 147,181 ตร.กม. ไม่มีทางออกทะเล
อาณาเขต ความยาวของเส้นพรมแดนทั้งหมด 3,159 กม.
ทิศเหนือ ติดกับทิเบต และจีน (1,389 กม.)
ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ติดกับอินเดีย (1,770 กม.)
- ภูมิประเทศ:
ทางตอนใต้เป็นที่ราบ มีแม่น้ำคงคาไหลผ่าน ทางตอนกลางและตอนเหนือเป็นเทือกเขาที่สำคัญ ได้แก่ เทือกเขาหิมาลัย
- ภูมิอากาศ:
ภูมิอากาศของเนปาลมีความหลากหลาย แตกต่างกันตามระดับความสูง ความสูงต่ำกว่า 1,200 ม. จะมีภูมิอากาศแบบเขตร้อน ความสูง 1,200-2,400 ม. มีอากาศเย็น ความสูง 2,400-3,600 ม. มีอากาศหนาว ความสูง 3,600-4,400 ม. มีอากาศคล้ายเขตอาร์กติก และความสูง 4,400 ม. ขึ้นไป มีสภาพอากาศแบบอาร์กติก ระดับความสูงที่แตกต่างกันมีผลกระทบต่อระดับน้ำฝน โดยภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำฝนปีละประมาณ 2,500 มม. ขณะที่กาฐมาณฑุมีปริมาณน้ำฝน 1,420 มม. และภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำฝนปีละประมาณ 1,000 มม. ภูมิอากาศของเนปาลแบ่งเป็น 4 ฤดู ได้แก่ 1) ก่อนมรสุมฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ เม.ย.-พ.ค. ในบริเวณพื้นที่ราบมีอากาศร้อนประมาณ 40 องศาเซลเซียส ขณะที่ในเขตภูเขามีอากาศเย็น 2) มรสุมฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ มิ.ย.-ก.ย. โดยลมมรสุมนำความชื้นจากภาคตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน 3) หลังมรสุมฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลาง ต.ค.-ธ.ค. อากาศเริ่มเย็นขึ้นและแห้งแล้ง และ 4) มรสุมฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ ธ.ค.-มี.ค. โดยมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน ในเขตที่ราบต่ำจะมีฝนลดลง และในเขตภูเขาสูงจะมีอากาศหนาวและหิมะตก ภัยธรรมชาติที่เนปาลประสบอยู่เป็นประจำ ได้แก่ น้ำท่วม ดินถล่ม และความแห้งแล้ง
- ประชากร:
ประมาณ 31,122,287 คน (ต.ค.2567) ประกอบด้วย 126 เชื้อชาติ ที่สำคัญ ได้แก่ เชื้อสาย Chhetri 16.6% Brahman-Hill 12.2% Magar 7.1% Tharu 6.2% Tamang 5.8% Newar 5% Kami 4.8% Yadav 4% อื่น ๆ 32.7% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 28% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 66% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 6% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรเนปาลโดยรวมประมาณ 71.97 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชายประมาณ 69.1 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศหญิงประมาณ 72.1 ปี อัตราการเกิด 17.87 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 6.24 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.11%
- ศาสนา:
ฮินดู 81.34% พุทธ 9% อิสลาม 4.4% คริสต์ 1.4% และอื่น ๆ 3.86%
- ภาษา:
ภาษาเนปาลีเป็นภาษาประจำชาติ 47.8% แต่นิยมใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อราชการและธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีภาษาท้องถิ่น เช่น Maithali 12.1% Bhojpuri 7.4% Tharu (Dagaura/Rana) 5.8% Tamang 5.1% Newar 3.6% Magar 3.3% Awadhi 2.4% Vnjoq 10%
- การศึกษา:
อัตราการรู้หนังสือ 77.4% แบ่งเป็นชาย 85.8% และหญิง 70.1% เด็กอายุ 15 ปีขึ้นไปสามารถอ่านออกเขียนได้ งบประมาณด้านการศึกษาประมาณ 3.7% ของ GDP ปี 2566 ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พลเมืองทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนจบภาคบังคับโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ประกอบกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาฟรีที่ประกาศใช้เมื่อปี 2561 และข้อบังคับที่ออกในอีก ๒ ปีต่อมามีการกำหนดให้ดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
- การก่อตั้งประเทศ:
เนปาลก่อตั้งขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 โดยสมเด็จพระราชาธิบดี Prithvi Narayan Shah แห่งราชวงศ์ชาห์ ผู้ปกครองแคว้น Gorkha รวบรวมรัฐต่าง ๆ ก่อตั้งเป็นอาณาจักร Gorkha หลังจากนั้น
ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ของสมเด็จพระราชาธิบดี Prithvi Narayan Shah ไม่สามารถรักษาเสถียรภาพการปกครองราชอาณาจักรไว้ได้ เกิดความไม่สงบภายใน ส่งผลให้สหราชอาณาจักรสามารถยึดครองอาณาจักร Gorkha ได้ตั้งแต่ปี 2357-2359 หลังจากปี 2389 ตระกูลรานา (Rana) กอบกู้เสถียรภาพกลับคืนสู่เนปาล ตั้งตนเป็น นรม. และสืบทอดอำนาจทางสายเลือด รวมทั้งลดทอนอำนาจกษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์
การปกครองของตระกูลรานายึดแนวการบริหารประเทศจากส่วนกลาง และดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวเนปาลจากอิทธิพลภายนอก ทำให้เนปาลรอดพ้นยุคล่าอาณานิคมมาได้โดยที่ไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศใด แต่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในช่วงปี 2493 สมเด็จพระราชาธิบดีตรีภูวัน ผู้สืบสกุลโดยตรงของสมเด็จพระราชาธิบดี Prithvi Narayan Shah ซึ่งหลบหนีไปยังอินเดีย ได้จับอาวุธขึ้นต่อต้านการปกครองของตระกูลรานา ส่งผลให้สามารถรื้อฟื้นการปกครองโดยราชวงศ์ชาห์ และเข้าสู่ยุคการปกครองแบบกึ่งรัฐธรรมนูญ มีการจัดตั้ง
พรรคการเมือง ซึ่งตั้งแต่ปี 2493 เป็นต้นมา มีความพยายามร่างรัฐธรรมนูญและจัดตั้งรัฐบาล โดยยึดแนวทาง
การปกครองแบบสหราชอาณาจักร จนกระทั่งปี 2533 เนปาลมีประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมืองโดยพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายตั้งแต่ปี 2539 กลุ่มนิยมลัทธิเหมาทำสงครามประชาชน และมีการสู้รบยืดเยื้อ ต่อมาเมื่อปี 2544 เจ้าชายฑิเปนทราก่อเหตุปลงพระชนม์หมู่ราชวงศ์เนปาล และมีการสถาปนาสมเด็จพระราชาธิบดี
คเยนทราขึ้นครองราชย์ สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน ขณะเดียวกัน กลุ่มนิยมลัทธิเหมาสามารถขยายอิทธิพลเข้ามายังเมืองหลวง และยุยงให้มีการประท้วงต่อต้านสถาบันกษัตริย์ จน เม.ย.2549 สมเด็จพระราชาธิบดี คเยนทราจึงยอมคืนอำนาจให้แก่ประชาชน และมีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ (The Comprehensive Peace Agreement-CPA) ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญที่ทำให้เกิดการประกาศยกเลิกระบอบกษัตริย์ รวมทั้งผ่านกฎหมายเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกเมื่อ 10 เม.ย.2551 ก่อนประกาศให้เนปาลเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยอย่างเป็นทางการเมื่อ 28 พ.ค.2551 - วันชาติ:
29 พ.ค. (เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐเมื่อปี 2551) - การเมือง:
เนปาลปกครองระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตย โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข และ นรม.เป็นหัวหน้ารัฐบาล แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 รัฐ แต่ละรัฐมีรัฐบาลท้องถิ่นของตนเอง ปัจจุบัน การเมืองเนปาลยังคงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและมีความท้าทายหลายประการ ซึ่งเนปาลกำลังพยายามสร้างเสถียรภาพและพัฒนาประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยสภานิติบัญญัติ ซึ่งประกอบด้วย สมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒสภา วาระ 5 ปี ขณะที่ นรม. มักมาจากพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร วาระ 5 ปี โดยประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้ง นรม. ตามผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภา ขณะที่ นรม. มีอำนาจแต่งตั้ง ครม. ทั้งนี้ เนปาลไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีและ นรม.ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภาเนปาล แบ่งออกเป็น 2 สภา ประกอบด้วย 1) สภาแห่งชาติ จำนวน 59 ที่นั่ง โดยประธานาธิบดีเสนอชื่อ 3 ที่นั่ง ส่วนที่เหลือมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องมีตัวแทนจากกลุ่มเปราะบางด้วย (สตรี ผู้พิการ และชนกลุ่มน้อย) ดำรงตำแหน่ง 6 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 25 ม.ค.2567 ครั้งถัดไปจะจัดขึ้นใน ม.ค.2569 และ 2) สภาผู้แทนราษฎร จำนวน 275 ที่นั่ง โดย มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ด้วยการลงคะแนนเสียงข้างมาก 165 ที่นั่ง และมาจากการเลือกตั้งโดยตรงด้วยการลงคะแนนเสียงตามสัดส่วนแบบปิด 110 ที่นั่ง วาระ 5 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ 20 พ.ย.2565 ครั้งถัดไปจะจัดขึ้นใน ม.ค.2570
นอกจากนี้ เนปาลยังมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสมาชิก 601 คน โดยมาจากการเลือกตั้งโดยตรง 240 คน ตัวแทนจากทั่วประเทศ 335 คน และมาจากการสรรหาของ ครม. 26 คน การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ 19 พ.ย.2556
ฝ่ายตุลาการ : ระบบกฎหมายของเนปาลยึดหลักกฎหมายทั่วไปของอังกฤษและผสานกับแนวคิดของศาสนาฮินดู โครงสร้างของศาลเนปาล ประกอบด้วย ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลแขวง ผู้พิพากษาในศาลแต่ละระดับได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ตามคำแนะนำของสภาตุลาการ ทำหน้าที่พิจารณาคดี ศาลฎีกามีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ และผู้พิพากษาศาลฎีกาอีก 20 คน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี หรือจนถึงอายุ 65 ปี
พรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่ พรรคคองเกรสเนปาล (Nepali Congress-NC) พรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (Communist Party of Nepal/Maoist-CPN-Maoist Centre) พรรค Communist Party of Nepal/ United Marxist Leninist Party-CPN/UML) พรรค Communist Party of Nepal (Unified Socialist) พรรค Rastriya Swatantra Party (RSP) พรรค Rastriya Prajatantra Party (RPP) พรรค Rastriya Janamorcha พรรค People's Socialist Party (PSP) พรรค Loktantrik Samajwadi Party (LSP) และ Janata Samajbadi Party (JSP)
- เศรษฐกิจ:
เนปาลเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ประชากรเกือบ 1 ใน 4 มีรายได้ต่ำกว่าระดับมาตรฐานความยากจน เนปาลเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในช่วงปี 2493 และพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี เนปาลดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2545 แต่ยังคงพึ่งพาความช่วยเหลือด้านการเงินจากต่างประเทศ คิดเป็นครึ่งหนึ่งของงบประมาณการพัฒนาประเทศ ขณะที่รัฐบาลเนปาลให้คำมั่นที่จะบริหารประเทศอย่างโปร่งใส ธรรมาภิบาล และเชื่อถือได้ โดยเริ่มดำเนินโครงการพัฒนา และตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
การเกษตรยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจเนปาล มีการจ้างงานกว่า 71% ของจำนวนประชากร และมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 25% ผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว และข้าวสาลี อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น ถั่ว ปอ อ้อย ยาสูบ เมล็ดพืช ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ ได้แก่ แร่ควอตซ์ ไม้ ไฟฟ้า พลังน้ำ แร่ลิกไนต์ ทองแดง โคบอลต์ และแร่เหล็ก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเนปาลขยายตัวเพียงเล็กน้อย เพราะได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว และอินเดียปิดกั้นทางการค้าเมื่อปี 2558 ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของเนปาลยังขาดเสถียรภาพจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ซึ่งส่งผลต่อการค้าและการท่องเที่ยวอย่างมาก ล่าสุดห้วงปลายเดือน ก.ย.2567 เนปาลประสบอุทกภัยอย่างหนัก ทำให้เศรษฐกิจเนปาลชะลอตัวลง
เนปาลใช้ประโยชน์จากศักยภาพด้านการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ผลิตได้ปีละประมาณ 42,000 เมกะวัตต์ แต่ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เทคโนโลยีที่ล้าสมัย ไม่มีทางออกสู่ทะเล ความไม่สงบทางการเมือง การชุมนุมประท้วงของผู้ใช้แรงงานและชนพื้นเมือง ตลอดจนภัยธรรมชาติเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนของต่างประเทศ
ปีงบประมาณ 16 ก.ค.-15 ก.ค.
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : เนปาลรูปี (Nepal Rupee/NPR)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 134.22 รูปีเนปาล
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 3.97 รูปีเนปาล (ต.ค.2567)
- ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ:
เนปาลเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ประชากรเกือบ 1 ใน 4 มีรายได้ต่ำกว่าระดับมาตรฐานความยากจน เนปาลเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในช่วงปี 2493 และพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี เนปาลดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2545 แต่ยังคงพึ่งพาความช่วยเหลือด้านการเงินจากต่างประเทศ คิดเป็นครึ่งหนึ่งของงบประมาณการพัฒนาประเทศ ขณะที่รัฐบาลเนปาลให้คำมั่นที่จะบริหารประเทศอย่างโปร่งใส ธรรมาภิบาล และเชื่อถือได้ โดยเริ่มดำเนินโครงการพัฒนา และตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
การเกษตรยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจเนปาล มีการจ้างงานกว่า 71% ของจำนวนประชากร และมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 25% ผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว และข้าวสาลี อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น ถั่ว ปอ อ้อย ยาสูบ เมล็ดพืช ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ ได้แก่ แร่ควอตซ์ ไม้ ไฟฟ้า พลังน้ำ แร่ลิกไนต์ ทองแดง โคบอลต์ และแร่เหล็ก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเนปาลขยายตัวเพียงเล็กน้อย เพราะได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว และอินเดียปิดกั้นทางการค้าเมื่อปี 2558 ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของเนปาลยังขาดเสถียรภาพจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ซึ่งส่งผลต่อการค้าและการท่องเที่ยวอย่างมาก ล่าสุดห้วงปลายเดือน ก.ย.2567 เนปาลประสบอุทกภัยอย่างหนัก ทำให้เศรษฐกิจเนปาลชะลอตัวลง
เนปาลใช้ประโยชน์จากศักยภาพด้านการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ผลิตได้ปีละประมาณ 42,000 เมกะวัตต์ แต่ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เทคโนโลยีที่ล้าสมัย ไม่มีทางออกสู่ทะเล ความไม่สงบทางการเมือง การชุมนุมประท้วงของผู้ใช้แรงงานและชนพื้นเมือง ตลอดจนภัยธรรมชาติเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนของต่างประเทศ
ปีงบประมาณ 16 ก.ค.-15 ก.ค.
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : เนปาลรูปี (Nepal Rupee/NPR)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 134.22 รูปีเนปาล
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 3.97 รูปีเนปาล (ต.ค.2567)
- การทหาร:
กองทัพเนปาลมีกำลังพลประจำการ 96,600 นาย แบ่งเป็น ทบ. และ ทอ. (เนปาล ไม่มี ทร. เนื่องจากไม่มีทางออกสู่ทะเล) นอกจากนี้ ยังมี กกล.ตำรวจที่เป็นพลเรือน 47,000 นาย กกล.ตำรวจติดอาวุธ 15,000 นาย และมีการรวมกำลังพลของกลุ่มนิยมลัทธิเหมากว่า 3,000 นาย เข้ามาประจำการในกองทัพเนปาล (ถือเป็นครั้งแรกของเอเชียใต้ที่อดีตกำลังพลของกองกำลังกบฏได้เข้ามาประจำการในกองทัพของรัฐ ซึ่งต้องผ่านการอบรม 2 ปี) ยุทธปัจจัยทางทหารของกองทัพเนปาลส่วนใหญ่มาจากจีน อินเดีย และสหรัฐฯ ที่สำคัญ เช่น รถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ 253 คัน ปืนใหญ่อย่างน้อย 92 กระบอก บ.รบ 7 เครื่อง และ ฮ. 15 เครื่อง
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเนปาลกำหนดให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเนปาลมาจากสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ ส่วนการเกณฑ์กำลังพลเป็นการรับอาสาสมัครชายอายุขั้นต่ำ 18 ปี เนปาลจัดสรรงบประมาณทางทหารปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 450,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 3.5% ของ GDP
- ปัญหาด้านความมั่นคง:
1) เนปาลมีปัญหาความไม่สงบที่เกิดจากความขัดแย้งภายในของเนปาลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งชนพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อยต้องการเพิ่มอำนาจปกครองตนเอง เพื่อให้มีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น และเพื่อประโยชน์แก่ชุมชนที่ด้อยโอกาสในสังคมมานาน ขณะที่หลายพรรคการเมืองเห็นว่า การแยกเขตการปกครองสำหรับชนพื้นเมืองจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะเนปาลมีประชากรหลายชาติพันธุ์ (ประมาณ 125 ชาติพันธุ์)
2) ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์และปัญหาผู้ลี้ภัย ปัจจุบันเนปาลมีผู้ลี้ภัยชาวทิเบตมากกว่า 10,000 คน และชาวภูฏานกว่า 6,000 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจากว่า 400 คนที่หลบหนีมาจากบังกลาเทศ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน การก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ อีกทั้งยังมีการแทรกแซงจากต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯ จีน และอินเดีย ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียต่อปัญหาดังกล่าว
3) ปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ เนื่องจากเนปาลมีพรมแดนที่เปิดกว้างโดยเฉพาะชายแดนที่ติดกับอินเดีย จึงมีความกังวลว่าจะถูกใช้เป็นฐานของกลุ่มมูจาฮีดีนอินเดีย (Indian Mujahideen-IM) ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายในอินเดีย
4) ความรุนแรงทางศาสนา โดยในช่วงที่ผ่านมามีการชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ฟื้นฟูรัฐฮินดูในเนปาล เพื่อรับมือกับการเพิ่มขึ้นของชาวคริสเตียน และกิจกรรมของชาวมุสลิม
5) ปัญหายาเสพติด เนปาลกำลังเผชิญภัยคุกคามจากยาเสพติดมากขึ้น โดยเฉพาะกัญชา โดย
ถูกใช้เป็นจุดลำเลียงยาเสพติดจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และตะวันตก6) ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อาทิ แผ่นดินไหว อุทกภัย และแผ่นดินถล่ม โดยล่าสุดเมื่อช่วงปลาย มิ.ย.2567 เนปาลประสบอุทกภัยครั้งรุนแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 300 คน ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเนปาล
7) ความท้าทายทางเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ยังมีการนำ Deep Fakes และ AI ใช้ในการก่ออาชญากรรมทาง ไซเบอร์ ซึ่งเนปาลยังขาดองค์ความรู้ด้านการป้องกันและการแก้ไขปัญหา
- สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ:
เนปาลเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศและกลุ่มความร่วมมือรวม 55 แห่ง อาทิ UN, WTO, SAARC, ADB และ BIMSTEC
- การขนส่งและโทรคมนาคม:
มีท่าอากาศยาน 35 แห่ง เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานนานาชาติตรีภูวัน ในกาฐมาณฑุ ท่าอากาศยานนานาชาติโคตมพุทธะ ในลุมพินี และท่าอากาศยานนานาชาติโพคารา ในคัณฑกี ท่าอากาศยานภายในประเทศ 32 แห่ง เส้นทางรถไฟระยะทาง 53 กม. ถนนระยะทาง 10,844 กม. ด้านการโทรคมนาคม มีโทรศัพท์พื้นฐานให้บริการประมาณ 858,237 เลขหมาย (ปี 2559) โทรศัพท์เคลื่อนที่ 32,120,325 เลขหมาย (ปี 2559) รหัสโทรศัพท์ +977 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 15,400,000 คน (ปี 2567) จำนวนบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก 13,500,000 คน (ปี 2567) รหัสอินเทอร์เน็ต คือ .np
- การเดินทาง:
การบินไทยมีเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-กาฐมาณฑุ ทุกวัน รวม 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ส่วนสายการบินเนปาลแอร์ไลน์มี 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ ยังสามารถต่อเครื่องบินมายังเนปาล โดยสายการบินดรุ๊กแอร์จากภูฏาน และสายการบินแอร์อินเดียจากอินเดียได้อีกทางหนึ่ง แม้ไทยจะไม่ได้รับยกเว้นการตรวจลงตราจากเนปาล แต่นักท่องเที่ยวไทยสามารถขอรับการตรวจลงตราที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของเนปาล โดย
ไม่จำเป็นต้องขอรับการตรวจลงตราล่วงหน้า สามารถพำนักในเนปาลได้สูงสุดไม่เกิน 90 วัน ส่วนผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และสามารถพำนักในเนปาลได้ไม่เกิน 90 วัน เวลาที่เนปาลช้ากว่าไทย 1 ชม. 15 นาที - สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม:
1) การปรับเปลี่ยนรัฐบาลเนปาลภายใต้การนำของ นรม.Pushpa Kamal Dahal หรือ “Prachanda” หัวหน้าพรรค Communist Party of Nepal-Maoist Centre (CPN-Maoist Centre) ที่ทำข้อตกลงกับพรรค Nepali Congress ซึ่งมีจำนวน สส.มากที่สุดในรัฐสภา และพรรค Communist Party of Nepal-Unified Socialist (CPN-Unified Socialist) โดยนาย Prachanda จะดำรงตำแหน่ง นรม. เป็นเวลา 2 ปี จากนั้นผู้นำพรรค CPN-Unified Socialist จะดำรงตำแหน่ง นรม. 1 ปี และผู้นำพรรค Nepali Congress จะดำรงตำแหน่ง นรม. ในช่วง 2 ปีสุดท้ายก่อนรัฐบาลครบวาระ ซึ่งการมีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมากสร้างปัจจัยเสี่ยงในการต่อรองผลประโยชน์ และอาจส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้ง
2) การขาดเสถียรภาพทางการเมือง ปัจจุบัน นาย KP Sharma Oli หัวหน้าพรรค CPN/UML ดำรงตำแหน่ง นรม. เมื่อ 15 ก.ค.2567 โดยมีพรรคร่วมรัฐบาล 4 พรรค ได้แก่ พรรค NC, CPN/UML, Janata Samajbadi Party (JSP) และ Loktantrik Samajbadi Party (LSP) อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเนปาลมีการเปลี่ยนแปลง นรม.บ่อยครั้ง และยังไม่มี นรม.คนใดดำรงตำแหน่งครบวาระ ทำให้ขาดเสถียรภาพทางการเมือง การออกนโยบายและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ขาดความต่อเนื่อง อีกทั้งเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานภายในประเทศ ดังนั้น แม้นาย KP Sharma Oli จะสามารถจัดตั้งรัฐบาล และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง นรม. แต่พรรค CPN/UML ของนาย KP Sharma Oli ไม่ใช่พรรคที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด โดยพรรค NC ได้รับเลือกมากที่สุด รองลงมาคือพรรค CPN/UML ทั้งสองพรรคจึงร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยตกลงที่จะสลับกันเป็น นรม.จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2570 อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลภายใต้การนำของนาย KP Sharma Oli ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนได้โดยเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพภายในพรรคร่วมรัฐบาล ความเชื่อมั่นของประชาชน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง นรม.อีกครั้ง
3) ความสัมพันธ์ระหว่างเนปาลกับรัสเซีย กรณีชาวเนปาลกว่า 15,000 คน เข้าร่วมรบในสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยบางส่วนสมัครใจเข้าร่วม เนื่องจากเชื่อว่าจะได้รับค่าตอบแทนสูงตามโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย และบางส่วนถูกหลอกจากขบวนการค้ามนุษย์ อีกทั้งถูกส่งไปรบในแนวหน้าของสงคราม ส่งผลให้ชาวเนปาลเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทางการเนปาลจึงระงับการออกใบอนุญาตทำงานในรัสเซียและยูเครนชั่วคราวเมื่อต้นปี 2567 เพื่อป้องกันชาวเนปาลสมัครเข้าร่วมกองทัพรัสเซีย และลดจำนวนการสูญเสียชีวิตให้น้อยที่สุด พร้อมเรียกร้องให้รัสเซียหยุดรับสมัครทหารรับจ้างชาวเนปาล และส่งตัวชาวเนปาลที่เข้าร่วมกับกองทัพรัสเซียกลับประเทศทันที แต่ยังคงต้องใช้ระยะเวลานาน เนื่องจากมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและติดขัดประเด็นทางกฎหมาย
- ความสัมพันธ์ไทย-เนปาล:
ไทยและเนปาลสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูตเมื่อ 30 พ.ย.2502 และ
ยกระดับเป็นเอกอัครราชทูตเมื่อปี 2512 และไทยส่งทหารเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ในกองกำลังของสหประชาชาติ (United Nations Mission in Nepal-UNMIN) เพื่อตรวจสอบอาวุธและกองกำลังของกลุ่มนิยมลัทธิเหมา กองทัพเนปาล และสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งเมื่อ 10 เม.ย.2551เนปาลเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา และมัลดีฟส์ แม้มูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันไม่สูงมากนัก แต่เนปาลพร้อมต้อนรับและสนับสนุนนักลงทุนไทยอย่างเต็มที่ โดยโอกาสที่จะได้รับคือ สามารถลงทุนเพื่อการส่งออกสินค้าไปยังประเทศ ที่ 3 ได้ เช่น ชายแดนทางเหนือติดกับจีน ซึ่งจีนให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับเนปาลในสินค้ากว่า 100 รายการ ส่วนชายแดนทางใต้ติดกับอินเดีย ผู้ส่งออกจะได้สิทธิพิเศษทางภาษี ซึ่งช่วยลดต้นทุนการส่งออกได้อย่างมาก
มูลค่าการค้าระหว่างไทย-เนปาลเมื่อ ม.ค.-ส.ค.2567 รวม 26.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยนำเข้าสินค้าจากเนปาลมูลค่า 0.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกสินค้าไปเนปาลมูลค่า 25.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ เส้นใยประดิษฐ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก กระดาษ เครื่องนุ่งห่ม ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากเนปาล ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องใช้ภายในบ้าน ผลิตภัณฑ์เวชกรรม ผัก ผลไม้ แผงวงจรไฟฟ้า รัฐบาลเนปาลส่งเสริมให้เอกชนไทยเข้าลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมผ้าไหม กาแฟ ผลผลิตทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูง การพัฒนาพืชสวน ไม้ตัดดอก โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว ขณะที่บริษัทไทยที่เข้าลงทุนในเนปาลส่วนใหญ่ลงทุนในกลุ่มธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม และการผลิต ได้แก่ General Food Industries, Nepal Thai Food (ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) Nepal Ekarat (หม้อแปลงไฟฟ้า), SB furniture, Index และเครือดุสิตธานี เป็นต้น
นอกจากนี้ ไทยและเนปาลยังมีความร่วมมือด้านศาสนาและวัฒนธรรม เนื่องจากเนปาลมีสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา ได้แก่ เมืองลุมพินี และเมืองจานักปุระ โดยไทยและเนปาลตกลงจัดทำแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านวัฒนธรรม เพื่อเป็นช่องทางนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาและเชิงนิเวศ ปัจจุบัน
มีคนไทยอาศัยอยู่ในเนปาลประมาณ 100 คน (ปี 2567)ข้อตกลงสำคัญระหว่างไทยกับเนปาล ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาณาเขตของแต่ละฝ่ายและพ้นจากนั้นไป (29 ต.ค.2514) หนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับเนปาลว่าด้วยการได้มาซึ่งที่ดินและสิ่งก่อสร้างเพื่อใช้เป็นที่ทำการและที่พักของ สอท. (14 ก.ค.2526) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (2 ก.พ.2541) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ (พิเศษ) ซึ่งลงนามเมื่อ 8 ม.ค.2542 บังคับใช้เมื่อ 22 ก.พ.2542
-
คณะรัฐมนตรี:
(นาย Ramchandra Paudel)
ตำแหน่ง - ประธานาธิบดีเนปาล
เกิด - 6 ต.ค.2487 (อายุ 81 ปี/ปี 2568) ที่เขต Tanahun เนปาล
สถานภาพ - สมรสกับนาง Savita Poudel มีบุตร 5 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 4 คน ได้แก่
Chintan Sharmila Sangya Anugya และ Awagya
การศึกษา - ปริญญาตรี สาขาวรรณกรรมสันสกฤต วิทยาเขต Balmiki Vidyapeeth
กาฐมาณฑุ มหาวิทยาลัย Nepal Sanskrit- ปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย Tribhuvan
ประวัติทางการเมือง
ปี 2534-2565 - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ปี 2534-2537 - รมว.กระทรวงการพัฒนาท้องถิ่นและการเกษตร
ปี 2537-2541 - โฆษกสภาผู้แทนราษฎร
ปี 2542-2545 - รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงมหาดไทย
ปี 2550-2551 - รมว.กระทรวงสันติภาพและการฟื้นฟู
ปี 2550-2556 - หัวหน้าคณะกรรมการพรรคคองเกรสเนปาล (Nepali Congress-NC)
มี.ค.2566-ปัจจุบัน - ประธานาธิบดี
------------------------------------------------
คณะรัฐมนตรีเนปาล
ประธานาธิบดี Ramchandra Paudel
รองประธานาธิบดี Ramsahay Prasad Yadav
รองประธานาธิบดีลำดับที่ 2 Nanda Kishor Pun
นรม. KP Sharma Oli
รอง นรม. และ รมว.กระทรวงพัฒนาเมือง Prakash Man Singh
รอง นรม. และ รมว.กระทรวงการคลัง Bishnu Prasad Paudel
รมว.กระทรวงมหาดไทย Ramesh Lekhak
รมว.กระทรวงกลาโหม Manbir Rai
รมว.กระทรวงเกษตรและการพัฒนาปศุสัตว์ Ramnath Adhikari
รมว.กระทรวงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและการขนส่ง Devendra Dahal
รมว.กระทรวงป่าไม้และสิ่งแวดล้อม Aain Bahadur Shahi Thakuri
รมว.กระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ Prithvi Subba Gurung
รมว.กระทรวงกฎหมาย ยุติธรรม และกิจการรัฐสภา Ajay Kumar Chaurasiya
รมว.กระทรวงพลังงาน ทรัพยากรน้ำ และการชลประทาน Dipak Khadka
รมว.กระทรวงน้ำเพื่อการบริโภค Pradeep Yadav
รมว.กระทรวงการต่างประเทศ Dr.Arzu Rana
รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจัดหา Damodar Bhandari
รมว.กระทรวงศึกษาธิการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี Bidya Bhattarai
รมว.กระทรวงสตรี เด็ก และผู้สูงอายุ Nawal Kishor Sah Sudi
รมว.กระทรวงการจัดการที่ดิน และบรรเทาความยากจน Balram Adhikari
รมว.กระทรวงเยาวชนและการกีฬา Teju Lal Chaudhary
รมว.กระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการบินพลเรือน Badri Prasad Pandey
รมว.กระทรวงกิจการภายใน และการบริหารทั่วไป Rajkumar Gupta
รมว.กระทรวงสาธารณสุขและประชากร Pradeep Poudel
รมว.กระทรวงแรงงาน การจ้างงาน และความมั่นคงทางสังคม Sharad Singh Bhandari
------------------------------------------------
(ต.ค.2567)