จอร์แดน
home อัลมาแนค | category ตะวันออกกลาง

จอร์แดน

สร้างเมื่อ : วันพฤหัสบดี 26 ธันวาคม 2567, 22:39:17
แก้ไขเมื่อ : วันพฤหัสบดี 26 ธันวาคม 2567, 22:40:23
เข้าชม : 509

ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน

Jordan

Jordan

Flag
Map Image
  • เมืองหลวง:
    กรุงอัมมาน
  • ที่ตั้ง:

    ภูมิภาคตะวันออกกลาง ทางตอนเหนือของคาบสมุทรอาระเบีย ระหว่างเส้นละติจูด 29 องศา 11 ลิปดา-33 องศา 22 ลิปดาเหนือกับลองจิจูด 34 องศา 59 ลิปดา-39 องศา 18 ลิปดาตะวันออก พื้นที่ 89,342 ตร.กม. (พื้นดิน 88,802 ตร.กม. น่านน้ำ 540 ตร.กม.) ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 113 ของโลก และเล็กกว่าไทยประมาณ 5.7 เท่า อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 6,830 กม.

     

    อาณาเขต                               

                    ทิศเหนือ                  ติดกับซีเรีย 379 กม.

                    ทิศใต้                      ติดกับทะเลแดง 26 กม. และซาอุดีอาระเบีย

                    ทิศตะวันออก             ติดกับซาอุดีอาระเบีย 731 กม. และอิรัก 179 กม.

                    ทิศตะวันตก              ติดกับอิสราเอล 307 กม. ทะเลสาบ Dead Sea 50 กม.

                                                   เขตเวสต์แบงก์ (ปาเลสไตน์) 148 กม.

  • ภูมิประเทศ:

    ทางตะวันออกส่วนใหญ่เป็นที่ราบทะเลทราย ทางตะวันตกเป็นที่ราบสูงและป่าเมดิเตอร์เรเนียน มีหุบเขา Great Rift กั้นระหว่างจอร์แดนกับเขตเวสต์แบงก์ของปาเลสไตน์และอิสราเอล มีพื้นที่ต่ำสุดของโลก คือ ทะเลสาบ Dead Sea ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 1,378 ฟุต (408 ม.) จุดที่สูงที่สุดในประเทศคือ ภูเขา Umm adDami สูง 1,854 ม. พื้นที่เพาะปลูก 11.4%

  • ภูมิอากาศ:

    แบบผสมระหว่างเมดิเตอร์เรเนียนกับแห้งแล้งแบบเขตทะเลทราย โดยทางตอนเหนือและตะวันตกสภาพอากาศเป็นแบบเมดิเตอร์เรเนียน มี 2 ฤดู คือ ฤดูหนาว ช่วง พ.ย.-มี.ค. มีฝนตกและมีหิมะตกในอัมมาน อุณหภูมิเฉลี่ย 13 องศาเซลเซียส และฤดูร้อนในช่วงที่เหลือของปี อากาศร้อนและแห้งแล้ง อุณหภูมิเฉลี่ย 35 องศาเซลเซียส ภัยธรรมชาติที่เคยประสบ ได้แก่ ภัยแล้งและแผ่นดินไหว

  • ประชากร:

    11,174,024 คน (2567)


    รายละเอียดประชากร      เป็นชาวอาหรับ 97.4% (ชาวจอร์แดน 69.3% แรงงานและผู้อพยพชาวซีเรีย 13.3% ชาวปาเลสไตน์ 6.7% ชาวอียิปต์ 6.7% ชาวอิรัก 1.4%) และอื่น ๆ 2.6% (เซอร์คัสเซียนและอาร์เมเนียน) อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 30.9% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 64.9% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 4.2% อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 76.5 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชาย 75 ปี และอายุขัยเฉลี่ยเพศหญิง 78.1 ปี อัตราการเกิด 22.2 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 3.5 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 0.78%

  • ศาสนา:

    อิสลาม (ส่วนใหญ่เป็นซุนนี) 97.1% คริสต์ 2.1% (ส่วนใหญ่นิกายกรีกออร์ทอดอกซ์) อื่น ๆ (พุทธ ฮินดู ยูดาย และไม่มีศาสนา) 0.8%

  • ภาษา:

    ภาษาราชการคือภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษใช้อย่างแพร่หลายในการติดต่อธุรกิจ ราชการ และในกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นสูง

  • การศึกษา:

    อัตราการรู้หนังสือ 98.4% จำนวนปีเฉลี่ยของการเข้ารับการศึกษาของประชาชนคือ 13 ปี

  • การก่อตั้งประเทศ:

    หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 และการสิ้นสุดของจักรวรรดิออตโตมาน (อุษมานียะฮ์) สหราชอาณาจักรซึ่งได้อาณัติในการปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคตะวันออกกลาง แบ่งเขตกึ่งปกครองตนเอง Transjordan ออกจากปาเลสไตน์ ต่อมาสหราชอาณาจักรร้องขอต่อสันนิบาตชาติเพื่อให้เอกราช Transjordan เมื่อปี 2489 และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นราชอาณาจักร “จอร์แดน” ตั้งแต่ปี 2493 โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 1 เป็นผู้ปกครองพระองค์แรก อนึ่ง ความพ่ายแพ้ในสงคราม 6 วันกับอิสราเอลเมื่อปี 2510 ส่งผลให้จอร์แดนต้องสูญเสียดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (เขตเวสต์แบงก์) ให้อิสราเอล ก่อนที่จะประกาศสละการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าวเป็นการถาวรตั้งแต่ปี 2531

  • วันชาติ:
    25 พ.ค. (วันได้รับเอกราชจากอาณัติของสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2489)
  • การเมือง:

                  ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ อำนาจการปกครองแบ่งเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ แต่ในทางปฏิบัติ กษัตริย์มีอำนาจสูงสุด  ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ กษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ 7 ก.พ.2542 เจ้าชายฮุสเซน พระราชโอรสองค์โตทรงได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารอย่างเป็นทางการ เมื่อ 2 ก.ค.2552

                    ฝ่ายบริหาร : สมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีอำนาจแต่งตั้ง นรม. และ นรม.แต่งตั้ง ครม. โดยผ่าน  ความเห็นชอบของสมเด็จพระราชาธิบดี นรม.คนปัจจุบัน คือนาย Jafar Hassan ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 15 ก.ย.2567

                   ฝ่ายนิติบัญญัติ : มี 2 สภาได้แก่ 1) วุฒิสภา (Majlis al-Ayan หรือ House of Notables) สมาชิก 65 คน แต่งตั้งโดยสมเด็จพระราชาธิบดี มีวาระ 4 ปี 2) สภาผู้แทนราษฎร (Majlis al-Nuwaab หรือ House of Representatives) สมาชิก 138 คน (เพิ่มขึ้นจาก 130 คน หลังจอร์แดนแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2565) วาระ 4 ปี มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากเขตเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศในระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อเปิด (open-list proportional representation system-OLPR) จำนวน 97 ที่นั่ง (ในจำนวนนี้มีโควตาที่สงวนไว้สำหรับชนกลุ่มน้อย 12 คน แบ่งเป็น ชาวคริสต์  9 คน และผู้ที่มีเชื้อสายเชเชนหรือเซอร์แคสเซีย  อีก 3 คน) ที่เหลือเป็นโควตาที่สงวนไว้สำหรับสตรี 18 คน และการเลือกตั้งโดยตรงจากเขตเลือกตั้งแห่งชาติ ในระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อปิด (closed-list proportional representation system-CLPR) จำนวน 41 ที่นั่ง (ในจำนวนนี้มีโควตาที่สงวนไว้สำหรับชาวคริสเตียน 2 คน และผู้ที่มีเชื้อสายเชเชนหรือเซอร์แคสเซีย 1 คน) การเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อ 10 ก.ย.2567 และการเลือกตั้งครั้งต่อไปกำหนดจัดในปี 2571

                 ฝ่ายตุลาการ : ระบบกฎหมายมีพื้นฐานจากหลักกฎหมายอิสลามและระบบกฎหมายแบบ Civil Law มีศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุดของประเทศ สมเด็จพระราชาธิบดีทรงแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ส่วนผู้พิพากษาคนอื่น ๆ มาจากการเสนอชื่อของสภาตุลาการสูงสุดให้สมเด็จพระราชาธิบดีทรงพิจารณารับรอง นอกจากนี้ ยังมีศาลศาสนา และศาลพิเศษอื่น ๆ เช่น ศาลภาษี ศาลทหาร และศาลคดีความมั่นคง

           พรรคการเมือง : แบ่งเป็น 5 ฝ่ายหลัก ได้แก่ ฝ่ายอิสลามนิยม อนุรักษ์นิยม สังคมนิยม ชาตินิยมอาหรับ และสายกลาง พรรคการเมืองสำคัญ เช่น พรรค Islamic Action Front พรรค Islamic Centre Party พรรค National Current Party และพรรค Jordanian Arab Socialist Ba’ath Party นอกจากนี้
    ยังมีกลุ่มพลังทางการเมืองที่สำคัญ เช่น 1) Anti-Normalization Committee 2) Jordan Bar Association และ 3) Jordanian Press Association และ 4) Jordanian Muslim Brotherhood

  • เศรษฐกิจ:

                     แบบเสรีนิยม เศรษฐกิจมีขนาดเล็กที่สุดประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง ขาดแคลนน้ำ น้ำมัน และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ รายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคบริการและพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน รวมทั้งความช่วยเหลือจากต่างชาติ จอร์แดนเป็นประเทศที่จัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มากที่สุดในตะวันออกกลาง โดยจัดทำกับสหรัฐฯ แคนาดา สิงคโปร์ มาเลเซีย สหภาพยุโรป (EU) ตูนิเซีย แอลจีเรีย ลิเบีย อิรัก ตุรกี และซีเรีย ทั้งนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 ดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและปรับปรุงภาคการเงินการธนาคาร เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ แก้ไขปัญหาความยากจน การว่างงาน เงินเฟ้อ และขาดดุลงบประมาณ รวมถึงมีการทำข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยเมื่อ พ.ย.2566 IMF ขยายระยะเวลาข้อตกลงการขยายเงินกองทุน (Extended Fund Facility-EFF) เป็นเวลา 4 ปี เพื่อสนับสนุนรัฐบาลจอร์แดนในการลดระดับหนี้ และการขาดดุลการคลัง

                    เศรษฐกิจจอร์แดนเมื่อปี 2566 เริ่มชะลอตัวอีกครั้งหลังเพิ่งฟื้นตัวจากโรค COVID-19 เนื่องจากปัญหาขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ หนี้สาธารณะสูง อัตราการว่างงานของเยาวชนสูงขึ้น และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลง นอกจากนี้ สถานการณ์ในฉนวนกาซาส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยวของจอร์แดน โดยทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ไตรมาส 4/2566 ขณะที่การหยุดชะงักทางการค้าในทะเลแดงส่งผลต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าทางทะเลผ่านท่าเรือในเมือง Aqaba ซึ่งเป็นเมืองท่าแห่งเดียวของจอร์แดน ทำให้ราคาสินค้าและราคาขนส่งเพิ่มสูงขึ้น

     

                    สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน :  ดีนาร์จอร์แดน (Jordanian dinar:JOD)

                    อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ :  0.709 ดีนาร์จอร์แดน

                    อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 บาท :  0.021 ดีนาร์จอร์แดน (15 ต.ค.2567)

  • ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ:

                     แบบเสรีนิยม เศรษฐกิจมีขนาดเล็กที่สุดประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง ขาดแคลนน้ำ น้ำมัน และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ รายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคบริการและพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน รวมทั้งความช่วยเหลือจากต่างชาติ จอร์แดนเป็นประเทศที่จัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มากที่สุดในตะวันออกกลาง โดยจัดทำกับสหรัฐฯ แคนาดา สิงคโปร์ มาเลเซีย สหภาพยุโรป (EU) ตูนิเซีย แอลจีเรีย ลิเบีย อิรัก ตุรกี และซีเรีย ทั้งนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 ดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและปรับปรุงภาคการเงินการธนาคาร เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ แก้ไขปัญหาความยากจน การว่างงาน เงินเฟ้อ และขาดดุลงบประมาณ รวมถึงมีการทำข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยเมื่อ พ.ย.2566 IMF ขยายระยะเวลาข้อตกลงการขยายเงินกองทุน (Extended Fund Facility-EFF) เป็นเวลา 4 ปี เพื่อสนับสนุนรัฐบาลจอร์แดนในการลดระดับหนี้ และการขาดดุลการคลัง

                    เศรษฐกิจจอร์แดนเมื่อปี 2566 เริ่มชะลอตัวอีกครั้งหลังเพิ่งฟื้นตัวจากโรค COVID-19 เนื่องจากปัญหาขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ หนี้สาธารณะสูง อัตราการว่างงานของเยาวชนสูงขึ้น และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลง นอกจากนี้ สถานการณ์ในฉนวนกาซาส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยวของจอร์แดน โดยทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ไตรมาส 4/2566 ขณะที่การหยุดชะงักทางการค้าในทะเลแดงส่งผลต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าทางทะเลผ่านท่าเรือในเมือง Aqaba ซึ่งเป็นเมืองท่าแห่งเดียวของจอร์แดน ทำให้ราคาสินค้าและราคาขนส่งเพิ่มสูงขึ้น

     

                    สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน :  ดีนาร์จอร์แดน (Jordanian dinar:JOD)

                    อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ :  0.709 ดีนาร์จอร์แดน

                    อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 บาท :  0.021 ดีนาร์จอร์แดน (15 ต.ค.2567)

  • การทหาร:

    (ปี 2566)

                    การทหาร : งบประมาณด้านการทหาร 1,853 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.5% ของ GDP)

                    ยุทโธปกรณ์สำคัญ :

                       ทบ. ได้แก่ รถถังหลัก (MBT) 320 คัน รถถังจู่โจม 80 คัน รถหุ้มเกราะทหารราบ (IFV) 399 คัน รถหุ้มเกราะลำเลียงพล (APC) มากกว่า 968 คัน รถหุ้มเกราะอรรถประโยชน์ (AUV) รุ่น Cougar 35 คัน รถหุ้มเกราะกู้ภัย (ARV) มากกว่า 85 คัน ทุ่นระเบิดดักรถถัง (MW) รุ่น Aardvark Mk2 จำนวน 12 คัน อาวุธต่อสู้รถถัง ได้แก่ ปืนต่อต้านรถถังเคลื่อนที่ได้ (SP) มากกว่า 115 คัน และระบบต่อต้านรถถังแบบพกพา (MANPATS) ปืนใหญ่ประเภทอัตตาจร (SP) ลากจูง (TOWED) ยิงระเบิด (MRL) และเครื่องยิงลูกระเบิด (MOR) รวม 1,285 กระบอก จรวดต่อสู้อากาศยานพื้นสู่อากาศ (SAM) และปืนต่อสู้อากาศยานประเภทอัตตาจร (SP) 108 กระบอก

                    ทร. ได้แก่ เรือลาดตระเวนและเรือรบชายฝั่ง 9 ลำ

                    ทอ. ได้แก่ เครื่องบินประเภทต่าง ๆ รวมประมาณ 57 เครื่อง ได้แก่ เครื่องบินโจมตีพื้นดิน (FGA) 47 เครื่อง เครื่องบินโจมตี (ATK) 2 เครื่อง เครื่องบินด้านข่าวกรอง เฝ้าระวัง และลาดตระเวน (ISR) 10 เครื่อง เครื่องบินขนส่ง (TPT) 12 เครื่อง อากาศยานเบา (Light) 7 เครื่อง และเครื่องบินสำหรับการฝึก (TRG) 26 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์โจมตี (ATK) 12 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์ (MRH) 14 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ขนส่ง (TPT) 54 เครื่อง อากาศยานไร้คนขับด้านด้านการต่อต้านข่าวกรอง เฝ้าระวัง และลาดตระเวน (CISR) อากาศยานไร้คนขับด้านข่าวกรอง เฝ้าระวัง และลาดตระเวน (ISR) ขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานจากพื้นสู่อากาศ (SAM) ปืนลากจูงต่อสู้อากาศยาน (TOWED) ขีปนาวุธจากอากาศสู่อากาศ (AAM) ขีปนาวุธอากาศสู่พื้น (ASM) และระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์

     

                    กำลังพลรวม : ทหาร 100,500 นาย (ทบ. 86,000 นาย ทร. 500 นาย และ ทอ. 14,000 นาย) ตำรวจ (Gendarmerie) และกำลังกึ่งทหาร 15,000 นาย กำลังสำรอง 65,000 นาย (กำลังสำรอง ทบ. 60,000 นาย และกำลังสำรองร่วม 5,000 นาย)

  • ปัญหาด้านความมั่นคง:

    1) ปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่มีชนวนเหตุมาจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาสในฉนวนกาซา และยังขยายไปยังเลบานอน ซีเรีย อิรัก เยเมน และอิหร่าน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของจอร์แดน โดยสถานที่สำคัญและผลประโยชน์ของจอร์แดนตกเป็นเป้าหมายปฏิบัติการทางทหารทั้งจากฝ่ายอิสราเอล กลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน และกบฏ Houthi ขณะเดียวกัน จอร์แดนยังถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งบ่อยครั้งจากการมีพรมแดนติดกับอิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยอิหร่านกล่าวหาว่าจอร์แดนสนับสนุนอิสราเอล เพราะจอร์แดนช่วยสกัดกั้นขีปนาวุธของอิหร่านที่โจมตีอิสราเอล พร้อมเตือนว่าอาจเป็นเหตุให้จอร์แดนถูกโจมตีจากอิหร่านได้ แม้ว่าจอร์แดนยืนยันว่าเป้าหมายที่ทำแบบนั้นไปเพื่อปกป้องประเทศและพลเมือง

                      2) สถานการณ์ความวุ่นวายจากการชุมนุมประท้วงของประชาชนที่ต่อต้านอิสราเอลและสนับสนุนชาวปาเลสไตน์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ยุติสงคราม ให้รัฐบาลจอร์แดนตัดความสัมพันธ์กับอิสราเอล และให้ยกเลิกการทำข้อตกลงทางทหารกับสหรัฐฯ รวมถึงให้ถอนกองกำลังทหารต่างชาติทั้งหมดออกจากจอร์แดน

                        3) จอร์แดนกำลังประสบภาวะยุ่งยากในการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากมีผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจำนวนมากพยายามหนีภัยจากเหตุรุนแรงในประเทศตนเองข้ามพรมแดนมายังจอร์แดนอย่างต่อเนื่อง ทำให้จอร์แดนต้องแบกรับภาระในการจัดการปัญหาดังกล่าว ขณะที่ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งใหม่เสี่ยงจะทำให้จอร์แดนต้องรับผู้อพยพเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน จอร์แดนมีผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์มากกว่า 2,400,000 คน (นับเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการกับ UNRWA) ชาวซีเรียประมาณ 638,760 คน และผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่น เช่น อิรัก และเยเมน

                        4) การเจรจาข้อพิพาทการแบ่งเขตแดนกับอิสราเอลในหลายพื้นที่ เช่น ในทะเล เพื่อจัดสรรแหล่งก๊าซธรรมชาติ และพื้นที่บริเวณแม่น้ำจอร์แดน ยังไม่คืบหน้าจากปัญหาอิสราเอล-กลุ่มฮะมาส และถูกนำไปเป็นข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงชาวจอร์แดนที่ต้องการให้รัฐบาลยกเลิกการทำข้อตกลงด้านพลังงานและน้ำกับอิสราเอล

  • สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ:

    ABEDA, AFESD, AMF, CAEU, CD, CICA, EBRD, FAO, G-11, G-77, IAEA, IBRD, ICAO, ICC, ICCt, ICRM, IDA, IDB, IFAD, IFC, IFRCS, ILO, IMF, IMO, IMSO, Interpol, IOC, IOM, IPU, ISO, ITSO, ITU, ITUC (NGOs), LAS, MIGA, MI-NUSTAH, MINUSMA, MONUSCO, NAM, OIC, OPCW,  PCA, UN, UNAMID, UNCTAD, UNESCO, UNHCR, UNIDO, UNMIL, UNMISS, UNOCI, UNRWA, UNWTO, UPU, WCO, WFTU (NGOs), WHO, WIPO, WMO, WTO และเป็นคู่เจรจาของ OSCE

  • การขนส่งและโทรคมนาคม:

    ท่าอากาศยาน 18 แห่ง ท่าอากาศยานสำคัญคือ ท่าอากาศยานนานาชาติ Queen Alia ที่อัมมาน และท่าอากาศยานนานาชาติ King Hussein ที่อะกาบา ท่าเรือ 1 แห่ง คือ ท่าเรือ
    Al Aqaba ทางใต้ของประเทศ ถนน 7,499 กม. (ข้อมูลสำนักงานสถิติจอร์แดน ปี 2561) ทางรถไฟ 509 กม. โดยมีรถไฟ 1 สายเชื่อมตอนเหนือกับตอนใต้ของประเทศไปจนถึงซาอุดีอาระเบียและซีเรีย อีก 1 สายเชื่อมระหว่างภาคตะวันออกกับตะวันตก มีนโยบายจะสร้างทางรถไฟต่อไปยังอิรักและอิสราเอล การโทรคมนาคม มีโทรศัพท์พื้นฐานให้บริการประมาณ 466,000 เลขหมาย โทรศัพท์เคลื่อนที่7.62 ล้านเลขหมาย (ปี 2565) รหัสโทรศัพท์ระหว่างประเทศ +962 สื่อสารมวลชน โทรทัศน์และวิทยุอยู่ในการควบคุมของรัฐมี Jordan Radio and Television Corporation (JRTV) เป็นแม่ข่าย และมีโทรทัศน์ระบบดาวเทียม ซึ่งสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์อิสราเอลและซีเรียได้ มีสถานีวิทยุประมาณ 30 สถานี จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 9.95
    ล้านคน (ปี 2566) รหัสอินเทอร์เน็ต คือ .jo 

  • การเดินทาง:

    สายการบินของไทยไม่มีเที่ยวบินตรง แต่มีสายการบินของจอร์แดนที่บินตรงมาไทย ได้แก่ สายการบิน Royal Jordanian มีเที่ยวบินตรง กรุงเทพฯ-อัมมาน ระยะเวลาในการบิน 8 ชั่วโมง 45 นาที เวลาที่จอร์แดนช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าจอร์แดนต้องขอรับการตรวจลงตรา ใช้เวลาประมาณ 5 วันทำการ เว็บไซต์ท่องเที่ยว www.visitjordan.com

  • สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม:

                 1) การพัฒนาทางเศรษฐกิจจะเพิ่มความสำคัญมากยิ่งขึ้น หลังจากจอร์แดนได้รับสนับสนุนแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเงินจาก IMF เพื่อพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญคือ การปรับปรุงและการขยายท่าเรืออเนกประสงค์และท่าอากาศยานนานาชาติ King Hussein ที่เมือง Aqaba ซึ่งจะช่วยรองรับนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้สำคัญของจอร์แดน อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความไม่สงบในกาซาจะทําให้การดําเนินการดังกล่าวล่าช้าจากเดิม

           2) ท่าทีของจอร์แดนต่อปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล โดยที่ผ่านมา จอร์แดนแสดงจุดยืนไม่ต้องการมีส่วนร่วมกับความขัดแย้ง

                  3) นโยบายของจอร์แดนในการจัดการปัญหาผู้อพยพ โดยจอร์แดนเป็นประเทศที่รับชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่นมากที่สุด โดยตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่ามีชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่นอยู่ในจอร์แดนมากกว่า 2,300,000 คน (แต่คาดว่าตัวเลขจริงมีมากกว่านี้) 

                   4) การจัดระเบียบความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และอิหร่าน เนื่องจากจอร์แดนเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของสหรัฐฯ แต่ก็ต้องการมีสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่าน

  • ความสัมพันธ์ไทย-จอร์แดน:

    ความสัมพันธ์ด้านการทูต

                    ไทยและจอร์แดนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 10 พ.ย.2509 จนกระทั่งในช่วงก่อนเกิดสงครามสหรัฐฯ อิรักเมื่อ มี.ค.2546 เจ้าหน้าที่ สอท.ไทย ณ แบกแดด ได้อพยพออกจากอิรัก และตั้งสำนักงานชั่วคราวในอัมมาน จอร์แดน ภายหลังไทยได้เปิด สอท. ณ กรุงอัมมาน เป็นการถาวรและมีภารกิจครอบคลุมอิรัก

                    ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

                    เมื่อปี 2566 การค้าระหว่างไทย-จอร์แดน มีมูลค่า 255.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (8,824.03 ล้านบาท) ไทยส่งออกไปจอร์แดน 204.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7,024.45 ล้านบาท) และนำเข้าจากจอร์แดน 51.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,799.58 ล้านบาท) ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าจอร์แดน 152.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5,224.86 ล้านบาท) และในช่วง ม.ค.-ส.ค.2567 การค้าไทย-จอร์แดน มีมูลค่า 116.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4,182.71 ล้านบาท) ไทยส่งออก 80.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,892.28 ล้านบาท) และนำเข้า 35.55
    ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,290.43 ล้านบาท) ไทยได้เปรียบดุลการค้าจอร์แดน 44.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,601.85 ล้านบาท)

                    สินค้าที่ไทยส่งออกไปจอร์แดน ในช่วง ม.ค.-ส.ค.2567 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ผ้าผืน ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ ข้าว ผลิตภัณฑ์พลาสติก ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เคมีภัณฑ์

                    สินค้าที่ไทยนำเข้า ในช่วง ม.ค.-ส.ค.2567 ได้แก่ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์สัตว์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ พืชสำหรับ
    ทำพันธุ์ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้

                    ด้านการท่องเที่ยว เมื่อปี 2566 นักท่องเที่ยวจอร์แดนเดินทางมาไทย จำนวน 5,566 คน และในช่วง ม.ค.-ส.ค.2567 มีจำนวน 9,703 คน ขณะที่มีคนไทยในจอร์แดน 611 คน (เม.ย.2567 กรมการกงสุล)

                    ข้อตกลงสำคัญ : กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (ลงนามเมื่อ 30 ก.ค.2547) บันทึกความเข้าใจด้านการบิน (24 ส.ค.2548) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (15 ธ.ค.2548) และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม (19 มิ.ย.2549)


  • คณะรัฐมนตรี:

    คณะรัฐมนตรีจอร์แดน

    นรม.                                                                            Jafar Hassan

    รมว.กระทรวงกลาโหม                                                        Jafar Hassan

    รอง นรม. และ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ                            Ayman Al Safadi

    รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์                   Azmi Mahafzah

    รมว.กระทรวงการคลัง                                                              Abdelhakim Shibli

    รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม การค้า และการจัดหา                        Yarub Qudah

    รมว.กระทรวงมหาดไทย                                                      Mazin Abdellah Hilal Al Farrayeh

    รมว.กระทรวงยุติธรรม                                                        Ahmed Nouri Ziadat

    รมว.กระทรวงการปกครองท้องถิ่น                                           Tawfiq Kreshan

    รมว.กระทรวงการวางแผนและความร่วมมือระหว่างประเทศ            Zeina Toukan

    รมว.กระทรวงโยธาธิการและการเคหะ                                      Maher Abuelsamen

    รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคม                                               Bani Mustafa

    รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและโบราณคดี                                 Lina Annab

    รมว.กระทรวงคมนาคม                                                       Wesam Altahtamouni

    รมว.กระทรวงน้ำและการชลประทาน                                             Muhammad Jamil Musa Al-Najjar

    รมว.กระทรวงแรงงาน                                                         Nadia Abdel Raouf Al Rawabdeh

    รมว.กระทรวงสาธารณสุข                                                    Firas Al-Hawari

    รมว.กระทรวงเกษตร                                                          Khaled Musa Al Henefat

    รมว.กระทรวงกิจการศาสนาอิสลามและศาสนสมบัติ                           Mohammad Khalaileh

    รมว.กระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลและความเป็นผู้ประกอบการ              Sami Smeirat

    รมว.กระทรวงวัฒนธรรม                                                     Mostafa Alrawashdeh

    รมว.กระทรวงพลังงานและทรัพยากรสินแร่                                Saleh Ali Hamed Al-Kharabsheh

    รมว.กระทรวงศึกษาธิการ                                                     Azmy Mahmoud Mahafzah

    รมว.กระทรวงสิ่งแวดล้อม                                                    Muawieh Khalid Radaideh, Dr.

    รมว.กระทรวงการเมืองและกิจการรัฐสภา                                 Haditha Jamal Haditha Alkhraisheh

    รมว.กระทรวงเยาวชน                                                        Yazan AlShdaifat

    รมว.กระทรวงคณะกรรมการการลงทุน                                     Kholoud M. Saqqaf

    รมว.กระทรวงการสื่อสารของรัฐบาล                                              Mohammad Momani

    รมต.แห่งรัฐ                                                                    Ahmad Oweidi

    รมต.แห่งรัฐกำกับดูแลกิจการเศรษฐกิจ                                           Muhannad Shehadeh

    รมต.แห่งรัฐกำกับดูแลกิจการต่างประเทศ                                  Nancy Namrouqa

    รมต.แห่งรัฐกำกับดูแลกิจการกฎหมาย                                      Fayyad Alqudah

    รมต.แห่งรัฐด้านการพัฒนาระบบราชการ                                   Kheirallah Abu Seileek

    รมต.แห่งรัฐกำกับดูแลกิจการ นรม.                                                         Abdullah Odwan

    -------------------------------------------

                    (ต.ค.2567)