อินโดนีเซีย
home อัลมาแนค | category เอเชีย

อินโดนีเซีย

สร้างเมื่อ : วันพฤหัสบดี 26 ธันวาคม 2567, 21:44:22
แก้ไขเมื่อ : วันพฤหัสบดี 26 ธันวาคม 2567, 21:44:22
เข้าชม : 377

สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

Indonesia

Indonesia

Flag
Map Image
  • เมืองหลวง:
    กรุงจาการ์ตา
  • ที่ตั้ง:

    ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแนวเส้นศูนย์สูตร ระหว่างมหาสมุทรอินเดียทางทิศใต้กับมหาสมุทรแปซิฟิกทางทิศเหนือ ทำให้อินโดนีเซียคุมเส้นทางการติดต่อระหว่างมหาสมุทรทั้งสองผ่านช่องแคบ ที่สำคัญ ได้แก่ มะละกา ซุนดา และลอมบ็อก

     

    อาณาเขต    พื้นที่ 1,904,569 ตร.กม. เป็นแผ่นดิน 1,811,569 ตร.กม. (ใหญ่ประมาณ 3.7 เท่าของไทย) เป็นพื้นที่ทะเล 93,000 ตร.กม. มีแนวเขตแดนทางบกยาว 2,958 กม. ติดกับมาเลเซีย (ด้านรัฐซาราวักและ   รัฐซาบาห์) ระยะทาง 1,881 กม. ติมอร์-เลสเต 253 กม. และปาปัวนิวกินี 824 กม. ชายฝั่งยาว 54,716 กม. 

  • ภูมิประเทศ:

    เป็นประเทศหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก มี 18,110 เกาะ แต่มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 6,000 เกาะ ประกอบด้วย 5 เกาะหลัก ได้แก่ กาลิมันตัน สุมาตรา ปาปัว (เป็นส่วนหนึ่งของเกาะนิวกินี) สุลาเวสี และชวา ที่เหลือเป็นหมู่เกาะขนาดเล็กประมาณ 30 หมู่เกาะ มีภูเขาไฟที่ยังมีพลัง 127 ลูก 

  • ภูมิอากาศ:

    ร้อนชื้นแบบศูนย์สูตร ความชื้นระหว่าง 70-90%  มี 2 ฤดู : ฤดูร้อนระหว่าง พ.ค.-ต.ค. และฤดูฝนระหว่าง พ.ย-เม.ย. อุณหภูมิชายฝั่งเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียส ภาคพื้นดินภายในประเทศและภูเขาเฉลี่ย 26 องศาเซลเซียส และแถบภูเขาสูงเฉลี่ย 23 องศาเซลเซียส

  • ประชากร:

    282,477,584 คน (ปี 2567) มากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐฯ  อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 23.8% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 68.3% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 8%  อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 73.6 ปี ชาย 71.3 ปี หญิง 76 ปี  อินโดนีเซียมีกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 300 กลุ่ม เป็นชาวชวา 40.1% ซุนดา 15.5% มาเลย์ 3.7% บาตัก 3.6% มาดูรา 3% และชาติพันธุ์อื่น ๆ 34% ซึ่งรวมจีนด้วยประมาณ 1.2%

     

  • ศาสนา:

    อิสลาม 87.4% คริสต์ 10.6% ฮินดู 1.7% และอื่น ๆ 0.8% ประชากรมุสลิมส่วนใหญ่เป็นมุสลิมสายกลาง เนื่องจากสังคมประกอบด้วยประชากรหลายศาสนา รัฐบาลอินโดนีเซียจึงกำหนดให้วันสำคัญของศาสนาอิสลาม คริสต์ ฮินดู พุทธ และตรุษจีนเป็นวันหยุดของชาติ

  • ภาษา:

    ภาษาทางการ คือ ภาษาอินโดนีเซีย ส่วนภาษาต่างประเทศที่ใช้กันมากที่สุด คือ ภาษาอังกฤษ และมีอีกประมาณ 700 ภาษาที่เป็นภาษาท้องถิ่น หรือภาษาตามชาติพันธุ์ต่าง ๆ

  • การศึกษา:

    อัตราการรู้หนังสือของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 96% การศึกษาขั้นพื้นฐาน (ระดับประถมและมัธยมต้น) 9 ปี เป็นการศึกษาภาคบังคับไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 6 ปี โรงเรียนสามารถใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นสื่อในการสอนเพื่อให้เกิดความเข้าใจเบื้องต้นได้หากมีความจำเป็น รวมทั้งการศึกษาด้านศาสนาที่นักเรียนนับถือ สอนโดยผู้สอนที่นับถือศาสนาเดียวกัน

  • การก่อตั้งประเทศ:

    ที่ตั้งของอินโดนีเซียเป็นเส้นทางแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การค้า และศาสนาที่สำคัญของภูมิภาค และเป็นที่ตั้งของหลายอาณาจักรทั้งฮินดู พุทธ และอิสลาม ก่อนตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส สเปน เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักรในยุคล่าอาณานิคม เนื่องจากอินโดนีเซียมีเครื่องเทศมากจึงถูกเรียกว่า “หมู่เกาะเครื่องเทศ” ญี่ปุ่นบุกยึดอินโดนีเซียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนอินโดนีเซียตกเป็นของเนเธอร์แลนด์อีกครั้ง การสถาปนาเป็นประเทศอินโดนีเซียเริ่มจากการต่อสู้แยกตัวเป็นเอกราชในนามสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของรัฐที่เป็นอิสระในการปกครองตนเองจำนวน 15 รัฐ โดยประกาศเอกราชเมื่อ 17 ส.ค.2488

  • วันชาติ:
    17 ส.ค.
  • การเมือง:

               เป็นรัฐเดี่ยวในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ (เป็นประเทศประชาธิปไตยใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก) แบ่งการปกครองเป็น 38 จังหวัด อุดมการณ์ทางการเมืองมีทั้งชาตินิยมและนิยมอิสลามแต่อยู่บนหลักการปัญจศีลและหลักนิยมทางสังคม

                    ปัญจศีลเป็นอุดมการณ์และปรัชญาขั้นพื้นฐานของประเทศ 5 ประการ คือ 1) เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว 2) เป็นมนุษย์ที่ยุติธรรมและมีอารยธรรม 3) เอกภาพของอินโดนีเซีย 4) ประชาธิปไตยอันเกิดจากปัญญาและความรู้ของผู้แทนบนความเห็นเป็นเอกฉันท์ และ 5) ความเป็นธรรมทางสังคมเพื่อประชาชนทุกคนของอินโดนีเซีย

                    หลักนิยมทางสังคม คือ 1) มุชาวะเราะฮ์ : การปรึกษาหารือกัน 2) โกตองโรยอง : การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 3) มุฟากัต : การยอมรับและปฏิบัติตามการตัดสินใจของที่ประชุม และ 4) บีเนกาตุงกัลอีกา : เอกภาพในความหลากหลาย

                    ฝ่ายบริหาร : มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล มาจากการเลือกตั้งโดยตรง (ครั้งแรกเมื่อปี 2547) วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ไม่เกิน 2 วาระ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการกระจายอำนาจเพื่อให้จังหวัดต่าง ๆ สามารถบริหารตนเองได้ จึงมีการเลือกตั้งหัวหน้าฝ่ายบริหารและสภานิติบัญญัติในท้องถิ่นตั้งแต่ระดับจังหวัดลงมาถึงระดับอำเภอหรือเทศบาล

                    การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ผู้ลงสมัครจะต้องได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองหรือกลุ่มพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตร ต้องมี สส.รวมกันไม่น้อยกว่า 20% (116 คน) จากจำนวน สส.ทั้งหมด 580 คน หรือได้คะแนนเสียง (Popular Vote) ไม่น้อยกว่า 25% ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองจะเสนอชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีพร้อมกัน ในการเลือกตั้ง ทั้งคู่ต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากหรือ 50% ขึ้นไปในครั้งแรก แต่หากไม่มีคู่ใดได้คะแนนเสียงตามที่กำหนด ให้ลงคะแนนเสียงใหม่ในรอบที่ 2

                    การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 14 ก.พ.2567 นายปราโบโว ซูเบียนโต สังกัดพรรค Gerindra ชนะนายอานิส บาสเวดาน ด้วยคะแนนเสียง 58.6% ต่อ 24.9% สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 20 ต.ค.2567 การเลือกตั้งครั้งต่อไปกำหนดจัดในปี 2572

                    ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภาหรือสภาที่ปรึกษาประชาชน (Majelis Permusyawaratan Rakyat-MPR) ประกอบด้วย สส. (Dewan Perwakilan Rakyat-DPR) 580 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วไป และสมาชิกของสภาผู้แทนจังหวัด (Dewan Perwakilan Daerah-DPD) 152 คน MPR มีอำนาจหน้าที่ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งพิจารณาถอดถอนประธานาธิบดีและ/หรือรองประธานาธิบดี

                    ฝ่ายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ : เป็นองค์กรอิสระมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดการพิจารณาตรวจสอบกฎหมายที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ การยุบพรรคการเมือง ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งทั่วไป และวินิจฉัยชี้ขาดความเห็นของ DPR ที่ยื่นเสนอขอถอดถอนประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดี        

                    พรรคการเมือง : อินโดนีเซียมีพรรคการเมืองจำนวนมาก ที่สำคัญ ได้แก่ พรรค Indonesian Democratic Party-Struggle (PDI-P) พรรค Golkar พรรค Democratic Party (PD) และพรรค Gerindra ทั้งยังมีพรรคการเมืองที่มีฐานมาจากกลุ่มอิสลาม หรือมีแนวทางนิยมอิสลามหลายพรรค เช่น พรรค National Mandate Party (PAN)  พรรค National Awakening Party (PKB) พรรค Prosperous Justice Party (PKS)  และพรรค United Development Party (PPP)

                    การเลือกตั้ง สส. เมื่อ 14 ก.พ.2567 มีพรรคการเมืองที่มีที่นั่งใน DPR 8 พรรค โดยพรรค PDI-P ของนางเมกวาตี ซูการ์โนปุตรี อดีตประธานาธิบดี (ระหว่างปี 2544-2547) มีมากที่สุด 110 ที่นั่ง รองลงมา คือ พรรค Golkar 102 ที่นั่ง พรรค Gerindra 86 ที่นั่ง พรรค Nasdem 69 ที่นั่ง พรรค PKB 68 ที่นั่ง พรรค PKS 53 ที่นั่ง พรรค PAN 48 ที่นั่ง และ พรรค Demokrat 44 ที่นั่ง 

  • เศรษฐกิจ:

    ระบบเศรษฐกิจเสรีที่ใช้กลไกตลาด มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลไกขับเคลื่อนมาจากการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก ปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออก

                    ช่วงปี 2551-2555 เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6% (ยกเว้นปี 2552 ซึ่งขยายตัวเพียง 4.6% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก) ระหว่างปี 2556-2562 การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5% เนื่องจากการบริโภคภายในซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น สินแร่ ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของอินโดนีเซียมีราคาตกต่ำ ปี 2563 อินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เศรษฐกิจจึงชะลอตัว ก่อนกลับมาฟื้นตัวในระดับใกล้เคียงกับห้วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 ปลายปี 2565 โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศ การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ถ่านหิน น้ำมันปาล์ม เหล็ก เหล็กกล้า ได้เพิ่มขึ้นและมีราคาสูง

                    นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ แผนแม่บทพัฒนาเศรษฐกิจอินโดนีเซียปี 2554-2568 (Master Plan for Acceleration and Expansion of Indonesia Economic Development 2011-2025 หรือ MP3EI) มีหลักการสำคัญ คือ เร่งรัดและขยายการพัฒนาเศรษฐกิจของอินโดนีเซียให้มีขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกภายในปี 2568 และตั้งเป้าให้ประชากรมีรายได้ต่อหัวประมาณ 14,250-15,000 ดอลลาร์สหรัฐ
    GDP มีมูลค่า 4.0-4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และอัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือ 3% ภายในปี 2568 นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

                       

                    สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : รูเปีย (Rupiah-IDR)

                   อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ :  14,720.17 รูเปียต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ต.ค.2567)

                    อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 442.42 รูเปียต่อ 1 บาท (ต.ค.2567)

     

  • ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ:

    ระบบเศรษฐกิจเสรีที่ใช้กลไกตลาด มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลไกขับเคลื่อนมาจากการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก ปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออก

                    ช่วงปี 2551-2555 เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6% (ยกเว้นปี 2552 ซึ่งขยายตัวเพียง 4.6% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก) ระหว่างปี 2556-2562 การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5% เนื่องจากการบริโภคภายในซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น สินแร่ ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของอินโดนีเซียมีราคาตกต่ำ ปี 2563 อินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เศรษฐกิจจึงชะลอตัว ก่อนกลับมาฟื้นตัวในระดับใกล้เคียงกับห้วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 ปลายปี 2565 โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศ การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ถ่านหิน น้ำมันปาล์ม เหล็ก เหล็กกล้า ได้เพิ่มขึ้นและมีราคาสูง

                    นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ แผนแม่บทพัฒนาเศรษฐกิจอินโดนีเซียปี 2554-2568 (Master Plan for Acceleration and Expansion of Indonesia Economic Development 2011-2025 หรือ MP3EI) มีหลักการสำคัญ คือ เร่งรัดและขยายการพัฒนาเศรษฐกิจของอินโดนีเซียให้มีขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกภายในปี 2568 และตั้งเป้าให้ประชากรมีรายได้ต่อหัวประมาณ 14,250-15,000 ดอลลาร์สหรัฐ
    GDP มีมูลค่า 4.0-4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และอัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือ 3% ภายในปี 2568 นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

                       

                    สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : รูเปีย (Rupiah-IDR)

                   อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ :  14,720.17 รูเปียต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ต.ค.2567)

                    อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 442.42 รูเปียต่อ 1 บาท (ต.ค.2567)

     

  • การทหาร:

                          กองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย (Tentara Nasional Indonesia-TNI) ได้รับการจัดอันดับโดย Global firepower ให้เป็นกองทัพที่มีแสนยานุภาพอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียมีเป้าหมายทางการทหาร คือ ต้องการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย และคงกำลังพลเท่าที่จำเป็น (Minimum Essential Force-MEF) ภายในปี 2567 งบประมาณป้องกันประเทศปี 2567 มูลค่าประมาณ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                    อินโดนีเซียจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นใหม่ในชื่อ Defense Industry Indonesia หรือ Defend ID เมื่อ เม.ย.2565 รับผิดชอบด้านการพัฒนาระบบอาวุธและผลิตยุทโธปกรณ์ด้วยตนเองโดยตรง เป็นการรองรับนโยบายลดการพึ่งพาต่างชาติในการจัดหาอาวุธและยุทโธปกรณ์ Defend ID มีหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่ผลิตอาวุธและอุตสาหกรรมทางทหารในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 4 แห่ง ได้แก่ ผู้ผลิตเรือ PAL Indonesia ผู้ผลิตเครื่องบิน Dirgantara Indonesia ผู้ผลิตวัตถุระเบิด Dahana และผู้ผลิตรถถังและอาวุธ Pindad

                    กำลังพลรวม : 404,500 นาย  แบ่งเป็น ทบ. 300,400 นาย ทร. 74,000 นาย ทอ. 30,100 นาย    มี ตร. และกองกำลังเสริม 290,200 นาย มีกำลังสำรอง 400,000 นาย

                    ยุทโธปกรณ์สำคัญ : รถถัง 453 คัน รถรบทหารราบ 64 คัน ยานลำเลียงหุ้มเกราะ 834 คัน ปืนใหญ่อัตตาจร 74 กระบอก ปืนใหญ่ลากจูง 356 กระบอก ปืน ค. 875 กระบอก ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง 135 กระบอก ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน 415 กระบอก ขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ 93 ชุดยิง เรือดำน้ำชั้น Cakra 2 ลำ ชั้น Nagapasa 2 ลำ เรือฟริเกต 11 ลำ เรือคอร์เวต 20 ลำ เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 116 ลำ เรือยกพลขึ้นบก 30 ลำ เครื่องบินขับไล่ 41 เครื่อง เครื่องบินโจมตี 65 เครื่อง เครื่องบินลำเลียง 62 เครื่อง เครื่องบินลาดตระเวน 4 เครื่อง เครื่องบินฝึก 104 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ 192 เครื่อง และเฮลิคอปเตอร์โจมตี 14 เครื่อง

  • ปัญหาด้านความมั่นคง:

                       การก่อการร้ายยังเป็นภัยคุกคามสำคัญของอินโดนีเซีย เพราะแม้ว่ากลุ่ม Jemaah Islamiyah (JI) ได้ประกาศยุติบทบาท แต่อาจมีสมาชิกบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย แยกตัวออกไปดำเนินกิจกรรมต่อ ส่วนกลุ่ม Islamic State (IS) เริ่มอ่อนแอลง สำหรับกลุ่มที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่มก่อเหตุโดยอิสระ กลุ่มผู้เดินทางจากพื้นที่สู้รบกลับมาตุภูมิ (returnees) ผู้ปฏิบัติการโดยลำพัง (lone wolf) และการก่อการร้ายโดยสตรี   

                    ปัญหาการขยายตัวของกลุ่มมุสลิมอนุรักษ์นิยมยังคงมีอยู่ โดยใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อผ่านช่องทาง การสื่อสารต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนสนับสนุนการเคลื่อนไหว ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งภายในกลุ่มมุสลิมด้วยกันเอง เช่น กลุ่มอะห์มะดียะฮ์ (ไม่ยอมรับว่ามุฮัมมัดเป็นศาสนทูตคนสุดท้าย) มุสลิมชีอะฮ์ และกับชนต่างศาสนา อาทิ ชาวจีนและชาวคริสต์

  • สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ:

    อินโดนีเซียเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญหลายองค์กรและ  พยายามแสดงบทบาทอย่างแข็งขันโดยเฉพาะใน UN, ASEAN, G-20 (เป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่เป็นสมาชิก), APEC, ASEM, D-8, OIC, NAM (เป็นหนึ่งในประเทศที่ริเริ่มก่อตั้ง), NAASP (ก่อตั้งเมื่อปี 2548 ที่จาการ์ตา) และ BRICS (พันธมิตรหุ้นส่วน)

  • การขนส่งและโทรคมนาคม:

    เครือข่ายถนนระยะทาง 550,735 กม. ทางรถไฟยาว 6,155 กม. ท่าอากาศยาน 673 แห่ง ท่าอากาศยานนานาชาติที่สำคัญ ได้แก่ ซูการ์โน-ฮัตตา จ.บันเต็น จูอันดา จ.ชวาตะวันออก และ     งูราห์ไร หรือเดนปาซาร์ จ.บาหลี ท่าเรือ 154 แห่ง เป็นท่าเรือน้ำลึก 137 แห่ง เปิดการเดินรถไฟความเร็วสูงเส้นทางจาการ์ตา-บันดุง เมื่อ ต.ค.2566 เป็นรถไฟความเร็วสูงขบวนแรกในภูมิภาค  โทรศัพท์พื้นฐานจำนวน 9.4 ล้านเลขหมาย มีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ 66% ของประชากรทั้งหมด เครือข่ายคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ ได้แก่ GSM 900/1800, CDMA 2000, 3G CDMA, 3G/WCDMA, 3G 9300 และ 4G LTE WiMAX รหัสอินเทอร์เน็ต .id มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 175.4 ล้านคน (ปี 2563) 44.16% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใช้ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ อินโดนีเซียมีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มากถึง 160 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก สื่อสังคมออนไลน์    ที่นิยมใช้ ได้แก่ ยูทูป เฟซบุ๊ก วอตส์แอปป์ อินสตาแกรม และติ๊กต็อก   

  • การเดินทาง:

    มีเที่ยวบินของสายการบินการูดา ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของอินโดนีเซีย มายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทุกวันโดยใช้เวลาเดินทาง 3 ชม. 30 นาที และมีเที่ยวบินของสายการบินไทยไปจาการ์ตาและ    เมืองเดนปาซาร์ (เกาะบาหลี) ทุกวัน ใช้เวลาเดินทาง 3 ชม. 35 นาที และ 4 ชม. 25 นาทีตามลำดับ เวลาของจาการ์ตาตรงกับเวลากรุงเทพฯ แต่เวลาของ จ.บาหลีและ จ.ปาปัว เร็วกว่ากรุงเทพฯ 1 และ 2 ชม. ตามลำดับ นักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าอินโดนีเซียโดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง เว็บไซต์การท่องเที่ยวของอินโดนีเซีย : https://indonesia.travel/gb/en/home.html

  • สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม:

                      1) อินโดนีเซียหลังเปลี่ยนผ่านผู้นำจากประธานาธิบดีโจโก วิโดโด สู่ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ซึ่งสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อ 20 ต.ค.2567 ความท้าทายสำคัญ ได้แก่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 8% การผลักดันโครงการอาหารฟรีสำหรับเด็กทั่วประเทศ การย้ายเมืองหลวงแห่งใหม่ การจัดตั้งทหารไซเบอร์ และการเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพ

                    2) การขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางจาการ์ตา-บันดุง ต่อไปยังสุราบายา

                   3)  การจัดระเบียบความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากอินโดนีเซียยังคงต้องพึ่งพาจีนที่เป็นแหล่งที่มาของเงินลงทุนและการส่งออก เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ไว้วางใจจีนที่มีท่าทีเชิงรุกในทะเลจีนใต้ซึ่งกระทบกับสิทธิอธิปไตยเหนือทรัพยากรในเขตเศรษฐกิจจำเพาะรอบหมู่เกาะนาทูนาเหนือ อินโดนีเซียยังพยายามแสวงหาความร่วมมือกับประเทศอื่น อาทิ เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย รัสเซีย ญี่ปุ่น ตุรกี และแอฟริกาใต้ เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป

  • ความสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซีย:

                ไทยและอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีมานาน ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัว ส่วนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมีขึ้นเมื่อ 7 มี.ค.2493 โดยมีความร่วมมือที่ดีต่อกันทุกด้าน อินโดนีเซียแสดงท่าทีต้องการช่วยไทยแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ไทยต้องการเรียนรู้ประสบการณ์การจัดการปัญหาขบวนการแบ่งแยกดินแดน และส่งเสริมความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้าย ตลอดจนให้อินโดนีเซียช่วยสร้างความเข้าใจกับโลกมุสลิมเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนเมื่อปี 2554 ยังมีบทบาทช่วยแก้ไขปัญหาพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหาร

                    ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจไทย-อินโดนีเซียได้รับการส่งเสริมภายใต้กรอบของอาเซียนและภายใต้กรอบ IMT-GT มีการทำความตกลง ความร่วมมือ สนธิสัญญา และ MoU ด้านต่าง ๆ มากกว่า 14 ฉบับ    อินโดนีเซียเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 10 ของไทยในโลก และอันดับ 4 ในอาเซียน เมื่อปี 2566 มีมูลค่าการค้า 636,373 ล้านบาท ไทยส่งออกมูลค่า 347,743 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 288,630 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 59,113 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการค้า ห้วง ม.ค.-ส.ค.2567 ประมาณ 442,081 ล้านบาท ไทยส่งออกมูลค่า 231,125 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 210,955 ล้านบาท    

                    สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว เม็ดพลาสติก น้ำตาลทรายเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ ถ่านหิน สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ก๊าซธรรมชาติ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเคมีภัณฑ์  

                    ชาวอินโดนีเซียเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเมื่อปี 2566 มากเป็นอันดับ 13 จำนวน 762,118 คน ในห้วง ม.ค.-ก.ย.67 มีจำนวน 648,650 คน 

                    ข้อตกลงที่สำคัญ : สนธิสัญญาทางไมตรี (3 มี.ค.2497) ความตกลงว่าด้วยการแบ่งเขตไหล่ทวีปในตอนเหนือของช่องแคบมะละกาและในทะเลอันดามัน (17 ธ.ค.2514) สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (9 มิ.ย.2519) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการศาล (8 มี.ค.2521) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (25 มี.ค.2524) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านป่าไม้ (27 พ.ค.2527) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านถ่านหิน (12 ม.ค.2533) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัย และเทคโนโลยี (20 พ.ค.2533) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม (18 ม.ค.2535) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (17 ก.พ.2541) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (23 พ.ค.2546) ความตกลงด้านวัฒนธรรม (17 ม.ค.2545) บันทึกความเข้าใจเพื่อการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-อินโดนีเซีย (27 พ.ค.2546) ความตกลงว่าด้วยการบริการทางอากาศ (8 มี.ค.2510 และปรับปรุงแก้ไขปี 2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการลงทุน (21 ก.ค.2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร (16 ธ.ค.2548) ความตกลงทางการค้า (Trade Agreement) (16 พ.ย.2554) ข้อตกลงว่าด้วยการแก้ไขบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอินโดนีเซีย (16 พ.ย.2554) ข้อตกลงการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านประมง (ต.ค.2556)

                    ไทยและอินโดนีเซียยังมีความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมที่ใกล้ชิด มีการจัดทำความตกลงด้านสังคมและวัฒนธรรม และดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมและสม่ำเสมอ อาทิ การอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายยังวัดไทยในอินโดนีเซีย และการสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องระหว่างกัน

  • คณะรัฐมนตรี:

    คณะรัฐมนตรีอินโดนีเซีย

     

    ประธานาธิบดี                                                                 Prabowo Subianto

    รองประธานาธิบดี                                                              Gibran Rakabuming Raka

    รมต.ประสานงานด้านการเมือง และความมั่นคง                          Budi Gunawan

    รมต.ประสานงานด้านกฎหมาย สิทธิมนุษยชน การตรวจคนเข้าเมือง

    และทัณฑสถาน                                                               Yusril Ihza Mahendra

    รมต.ประสานงานด้านเศรษฐกิจ                                             Airlangga Hartarto        

    รมต.ประสานงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม        Pratikno

    รมต.ประสานงานด้านการเสริมสร้างพลังประชาชน                       Abdul Muhaimin Iskandar

    รมต.ประสานงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาส่วนภูมิภาค   Agus Harimurti Iskandar

    รมต.ประสานงานด้านกิจการอาหาร                                         Zulkifli Hasan

    เลขาธิการแห่งรัฐ                                                               Prasetyo Hadi

    รมว.กระทรวงมหาดไทย                                                     Muhammad Tito Karnavian

    รมว.กระทรวงการต่างประเทศ                                               Sugiono

    รมว.กระทรวงกลาโหม                                                       Sjafrie Sjamsoeddin

    รมว.กระทรวงกฎหมาย                                                       Supratman Andi Agtas

    รมว.กระทรวงสิทธิมนุษยชน                                                 Natalius Pigai

    รมว.กระทรวงกิจการตรวจคนเข้าเมืองและทัณฑสถาน                   Agus Andrianto

    รมว.กระทรวงการคลัง                                                        Sri Mulyani Indrawati

    รมว.กระทรวงกิจการการศึกษาชั้นต้น                                      Abdul Mu’ti
    รมว.กระทรวงกิจการการศึกษาชั้นสูง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี      Satryo Soemantri Brodjonegoro
    รมว.กระทรวงวัฒนธรรม                                                     Fadli Zon

    รมว.กระทรวงคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ                                    Abdul Kadir Karding

    รมว.กระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ธาตุ                                Bahlil Lahadalia

    รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม                                                 Agus Gumiwang Kartasasmita

    รมว.กระทรวงพาณิชย์                                                        Budi Santoso

    รมว.กระทรวงการสื่อสารและดิจิทัล                                        Meutya Viada Hafid

    รมว.กระทรวงเกษตร                                                         Andi Amran Sulaiman

    รมว.กระทรวงสิ่งแวดล้อม                                                    Hanif Faisol Nurofiq

    รมว.กระทรวงการป่าไม้                                                       Raja Juli Antoni

    รมว.กระทรวงคมนาคม                                                       Dudy Purwagandhi                รมว.กระทรวงกิจการทะเลและประมง                                    Sakti Wahyu Trenggono

    รมว.กระทรวงแรงงาน                                                        Yassierli

    รมว.กระทรวงการเคหะและการตั้งถิ่นฐาน                                 Maruarar Sirait

    รมว.กระทรวงโยธาธิการ                                                      Dodi Hanggodo

    รมว.กระทรวงสาธารณสุข                                                    Budi Gunadi Sadikin

    รมว.กระทรวงการพัฒนาระดับภูมิภาค                                     Yandri Susanto

    รมว.กระทรวงกิจการเกษตรกรรมและการวางแผนที่ดิน                  Nusron Wahid

    รมว.กระทรวงกิจการสังคม                                                   Saifullah Yusuf

    รมว.กระทรวงกิจการประชากรและวางแผนครอบครัว                   Hanif Faisol Nurofiq

    รมว.กระทรวงกิจการศาสนา                                                 Nasaruddin Umar

    รมว.กระทรวงกิจการสหกรณ์                                               Budi Arie Setiadi          

    รมว.กระทรวงสหกรณ์และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม           Maman Abdurrahman

    รมว.กระทรวงส่งเสริมสตรีและคุ้มครองเด็ก                                 Arifatul Choiri Fauzi

    รมว.กระทรวงการปฏิรูปการบริหารและระบบราชการ                    Rini Widyantini

    รมว.กระทรวงการย้ายถิ่นฐาน                                                Iftitah Suryanegara

    รมว.กระทรวงการวางแผนพัฒนาชาติ                                      Rachmat Pambudy

    รมว.กระทรวงรัฐวิสาหกิจ                                                     Erick Thohir

    รมว.กระทรวงการท่องเที่ยว                                                  Widiyanti Putri

    รมว.กระทรวงเศรษฐกิจสร้างสรรค์                                          Teuku Riefky Harsya

    รมว.กระทรวงกิจการเยาวชนและการกีฬา                                 Ario Bimo Nandito Ariotedjo

    รมว.กระทรวงการลงทุน                                                      Rosan Perkasa Roeslani

     

    --------------------------------------------------

     (ต.ค.2567)