
กัมพูชา
สร้างเมื่อ : วันพุธ 25 ธันวาคม 2567, 23:08:27
แก้ไขเมื่อ : วันพุธ 25 ธันวาคม 2567, 23:08:27
เข้าชม : 444
ไฟล์ PDF
ราชอาณาจักรกัมพูชา
Cambodia
Cambodia

-
เมืองหลวง:
ราชธานีพนมเปญ - ที่ตั้ง:
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างเส้นละติจูดที่ 10-14 องศาเหนือ กับเส้นลองจิจูดที่ 102-107 องศาตะวันออก มีพื้นที่ 181,035 ตร.กม. (ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 90 ของโลก)
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับไทย (จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์) และลาว
ทิศใต้ ติดกับอ่าวไทย
ทิศตะวันออก ติดกับเวียดนาม
ทิศตะวันตก ติดกับไทย (จ.สระแก้ว จ.จันทบุรี และ จ.ตราด)
- ภูมิประเทศ:
ลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ พื้นที่ตอนกลางประเทศเป็นที่ราบลุ่มระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำบาสัค
และมีโตนเลสาบเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่อันอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นที่ราบสูงป่าโปร่ง ป่าทึบ และเทือกเขาสลับซับซ้อนเสมือนเป็นขอบกระทะ - ภูมิอากาศ:
อยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ด้วยกัมพูชา
มีชายฝั่งติดต่อกับอ่าวไทยทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านเข้าประเทศได้สะดวก นำฝนและความชุ่มชื้น
เข้ามา แต่หากมีพายุหมุนจากทะเลจีนใต้พัดผ่านจะทำให้ฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง ส่วนฤดูหนาวได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดผ่านจีน นำความหนาวเย็นเข้ามา แต่เนื่องจากมีภูเขาล้อมรอบตอนเหนือของประเทศ ทำให้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือไม่เต็มที่ ฤดูฝนเริ่มประมาณกลาง พ.ค.-ก.ย. อุณหภูมิเฉลี่ย 26-29 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวเริ่มประมาณกลาง ต.ค.-ม.ค. อุณหภูมิเฉลี่ย 24-28 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนเริ่มประมาณกลาง ก.พ.-เม.ย. อุณหภูมิเฉลี่ย 26-30 องศาเซลเซียส - ประชากร:
ประมาณ 17.06 ล้านคน (ปี 2567) ส่วนใหญ่มีเชื้อสายเขมร 95.4% รองลงมาคือ ชาวจาม (มุสลิม) 2.4% จีน 1.5% และอื่น ๆ 0.7% สัดส่วนประชากรจำแนกตามอายุ: วัยเด็ก (0-14 ปี) 28.9% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 65.8% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 5.3% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรประมาณ 71.4 ปี
เพศชายประมาณ 69.6 ปี เพศหญิงประมาณ 73.3 ปี อัตราการเกิด 18.2 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 5.7 คน ต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 0.99% ประชากรส่วนใหญ่กระจุกตัวในภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในและรอบเมืองหลวง - ศาสนา:
พุทธ 97.1% อิสลาม 2% คริสต์ 0.3% และอื่น ๆ 0.5%
- ภาษา:
ภาษาราชการ คือ ภาษาเขมร 95.8% ภาษาชนพื้นเมือง 2.9% ภาษาจีน 0.6% ภาษาเวียดนาม 0.5% และภาษาอื่น ๆ 0.2 % ในเขตเมืองบางส่วนยังคงใช้ภาษาฝรั่งเศส ส่วนภาษาอังกฤษได้รับความนิยมมากขึ้นในฐานะภาษาที่สอง
- การศึกษา:
อัตราการรู้หนังสือ 83.9% ชาย 88.4% และหญิง 79.8% (ปี 2564) โดยการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา ในสถานศึกษาของรัฐไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน และงบประมาณด้านการศึกษาคิดเป็น 3.1% ของ GDP เมื่อปี 2563
- การก่อตั้งประเทศ:
วิวัฒนาการมาจาก 3 อาณาจักรโบราณ คือ ฟูนัน เจนละ และจามปา (พุทธศตวรรษที่ 6-14) จนกระทั่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (ปี 1345-1395) ก่อตั้งอาณาจักรขอมได้สำเร็จ และต่อมาขยายอำนาจกว้างขวางถึง 1 ใน 3 ของภูมิภาคอินโดจีน รวมระยะเวลาประมาณ 400 ปี จากนั้นเริ่มเสื่อมอำนาจ เนื่องจากทุ่มเททรัพยากรก่อสร้างศาสนสถานจำนวนมาก ประกอบกับอาณาจักรข้างเคียงเข้มแข็งขึ้น จึงเสียดินแดนบางส่วนให้สุโขทัย หลังจากนั้นอีกประมาณ 300 ปีตกอยู่ใต้อำนาจของอยุธยา เวียดนาม และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในฐานะประเทศราช สลับกับมีเอกราชช่วงสั้น ๆ ก่อนเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส (ปี 2406-2496) ในยุคล่าอาณานิคม
กัมพูชาเปลี่ยนชื่อประเทศและระบบการปกครองรวม 5 ครั้ง (เกือบตลอดระยะเหตุดังกล่าวเป็นช่วงที่กัมพูชาไร้เสถียรภาพและเกิดสงครามกลางเมือง) ดังนี้ ราชอาณาจักรกัมพูชา ปี 2491-2513 สาธารณรัฐเขมร ปี 2513-2518 กัมพูชาประชาธิปไตย ปี 2518-2522 สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา ปี 2522-2532 รัฐกัมพูชา ปี 2532-2534 เมื่อสิ้นสุดยุคสงครามกลางเมือง สหประชาชาติจัดตั้ง United Nations Advance Mission in Cambodia (UNAMIC) ก่อนปรับเป็น United Nations Transitional Authority in Cambodia (UNTAC) เพื่อช่วยเหลือกัมพูชาควบคุมดูแลการหยุดยิงโดยสมัครใจของฝ่ายต่าง ๆ และเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไป ช่วงปี 2534-2536 ซึ่งนำมาสู่การปกครองในระบอบปัจจุบันตั้งแต่ปี 2536
- วันชาติ:
9 พ.ย. (วันประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส 9 พ.ย.2496) - การเมือง:
ปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา มีกษัตริย์ (สมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี) เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (สภาราชบัลลังก์คัดเลือกกษัตริย์)
ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล : หลังการเลือกตั้งทั่วไป พรรคเสียงข้างมากหรือพรรคต่าง ๆ ร่วมกันเสนอชื่อ นรม.ให้สภาแห่งชาติ (สภาผู้แทนราษฎร) รับรองด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง และกษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน นำโดย นรม.สมเด็จฯ ฮุน มาแนต เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ ส.ค.2566
ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา : ประกอบด้วย 2 สภา คือ 1) วุฒิสภา (มีสมาชิกวุฒิสภา 62 คน วาระ 6 ปี ชุดปัจจุบันปี 2567-2573) มาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์ 2 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยสภาแห่งชาติ 2 คน และมาจากสมาชิกสภาตำบล 58 คน มีสมเด็จฯ ฮุน เซน เป็นประธานวุฒิสภา และ 2) สภาแห่งชาติ (มีสมาชิกสภาแห่งชาติ 125 คน วาระ 5 ปี ชุดปัจจุบันปี 2566-2571) มาจากการเลือกตั้งทั่วไป มีสมเด็จฯ ควน สุดารี เป็นประธานสภาแห่งชาติ
ฝ่ายตุลาการ : เป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ สถาบันสูงสุดคือ สภาผู้พิพากษาสูงสุด มีกษัตริย์เป็นประธาน ทำหน้าที่แต่งตั้งผู้พิพากษา ระบบศาล ประกอบด้วย ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลสูง แต่ละจังหวัด/กรุง/ราชธานี มีศาลของตนเอง
พรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่ พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party-CPP) เป็นพรรครัฐบาล ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ ก.ค.2566 มีสมาชิกสภาแห่งชาติ 120 ที่นั่งจาก 125 ที่นั่ง พรรค
ฟุนซินเปค (FUNCINPEC) มีสมาชิกสภาแห่งชาติ 5 ที่นั่ง ขณะที่พรรคแสงเทียน (Candlelight Party-CP) ฝ่ายค้าน (สมาชิกส่วนใหญ่มาจากพรรคสงเคราะห์ชาติ หรือ CNRP ถูกยุบพรรคเมื่อ พ.ย.2560) ถูกตัดสิทธิ์ ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 5 เมื่อ 25 ก.พ.2567 พรรค CPP ชนะการเลือกตั้งมี ส.ว. 55 ที่นั่ง และพรรค Khmer Will Party (KWP) ซึ่งเป็นพันธมิตรพรรคแสงเทียน มี ส.ว. 3 ที่นั่งพรรค CPP ฝ่ายรัฐบาล พยายามรักษาความได้เปรียบทางการเมือง ด้วยการปรับแก้กฎหมาย การเลือกตั้งที่เกี่ยวกับสิทธิ์การเลือกตั้ง และสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเมื่อ มิ.ย.2566 ว่าบุคคลผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง (โดยไม่มีเหตุที่ชอบด้วยกฎหมาย) จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้นายซัม รังสี อดีตประธานพรรค CNRP (ลี้ภัยต่างประเทศ) ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก นอกจากนี้ เมื่อ ม.ค.2567 พรรค CPP มีมติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ต้องมีอายุไม่เกิน 74 ปี ทำให้นายซาย ชุม (อายุ 79 ปี/ปี 2568) อดีตประธานวุฒิสภา ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ เปิดทางให้สมเด็จฯ ฮุน เซน ซึ่งมีอาวุโสมากที่สุดได้รับเลือกตั้งเป็นประธานวุฒิสภา
การเมืองภายในกัมพูชายังคงเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ เนื่องจากพรรค CPP สามารถควบรวมอำนาจทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ กลไกของรัฐทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงได้ รวมถึงการที่สมเด็จฯ ฮุน เซน ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กรณีกษัตริย์กัมพูชาเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ อีกทั้งมีตำแหน่งในสภาราชบัลลังก์ซึ่งมีบทบาทในการเลือกกษัตริย์พระองค์ใหม่ กรณีพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต
- เศรษฐกิจ:
แบบทุนนิยม มีนโยบายเปิดเสรีการค้า ภาพรวมเศรษฐกิจกัมพูชาตั้งแต่ปี 2541-2562 เติบโตในอัตราเฉลี่ย 7.7% ต่อปี เป็นผลจากการขยายตัวของภาคการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในปี 2567 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank-ADB) คาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัว 5.8% น้อยกว่าที่รัฐบาลกัมพูชาประเมินไว้ที่ 6.6% จากภาคบริการ การท่องเที่ยว การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป สินค้าเกษตรกรรม รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับจีนด้านการค้า การลงทุน รวมถึงการลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกัมพูชา-จีน อำนวยความสะดวกให้จีนเข้ามาลงทุนในกัมพูชา สำหรับในปี 2568 สถาบันการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชาจะเติบโต 6% จากการขยายตัวของภาคการส่งออก บริการ และการท่องเที่ยว
สมเด็จฯ ฮุน มาแนต ประกาศยุทธศาสตร์เบญจโกณ ระยะที่ 1 (Pentagonal Strategy-Phase I)
เมื่อปี 2566 เพื่อเป็นรากฐานให้บรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2573 โดยส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยืดหยุ่นในภาวะวิกฤต เพิ่มการจ้างงาน ลดความยากจน (กุญแจสำคัญในการพัฒนา 5 ประการ ได้แก่ การพัฒนาประชาชน น้ำ ถนน ไฟฟ้า และเทคโนโลยี) ผลักดันโครงการขยายบริการด้านสาธารณสุข จัดอบรมทักษะอาชีพให้เยาวชนในครอบครัวยากจน จัดตั้งสถาบันช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง พัฒนาให้เศรษฐกิจนอกระบบใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจในระบบ ส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่างภาคเกษตรและภาคการเงิน และส่งเสริมกิจกรรมด้านการเกษตรและการรวมตัวของเกษตรกร ซึ่งเป็นแนวทางดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ และสอดคล้องกับคุณค่า การเติบโตการจ้างงาน ความเท่าเทียม ประสิทธิภาพ และความยั่งยืน (คติพจน์ 5 ประการ)กัมพูชาประกาศข้อเสนอแนะ 5 ประการเพื่อบรรลุเป้าหมายเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2593 (Cambodia Vision 2050) ได้แก่ 1) ส่งเสริมภาคการผลิตเพื่อบริโภคและส่งออก สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป สินค้าเกษตร และสินค้าเกี่ยวกับการท่องเที่ยว 2) ส่งเสริมแนวทาง “เสริมสร้างตลาดเก่า ขยายตลาดใหม่” มุ่งจัดการ
เขตการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี 3) การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รัฐบาลจะส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในท้องถิ่น รวมถึงลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น คลองฟูนันเตโช 4) ดำเนินนโยบายเกี่ยวข้องกับดิจิทัลอย่างจริงจัง เฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจดิจิทัลและการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) และ 5) พัฒนาแผนยุทธศาสตร์เพื่ออำนวยความสะดวกให้หลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) อย่างราบรื่นภายในปี 2572 และลดผลกระทบจากการเสียสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP)ในอนาคต รัฐบาลกัมพูชาจะเพิ่มการหารือและจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ควบคู่กับการหาตลาดส่งออกใหม่ เพื่อบรรลุเป้าหมายหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดภายในปี 2572 ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งท่าอากาศยานนานาชาติ ถนน และเส้นทางรถไฟ ขณะเดียวกัน กัมพูชาเร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตน้ำมันเพื่อการพาณิชย์จากแหล่งน้ำมันบนบกและในอ่าวไทย ร่วมกับส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งคาดหวังให้เป็นหนึ่งในปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจ
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : เรียล (Riel)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 4,059 เรียล (ต.ค.2567)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 126.50 เรียล (ต.ค.2567) ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่นิยมใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐใหม่และไม่มีตำหนิ (ผู้ประกอบการไม่รับธนบัตรที่มีสภาพเก่า มีรอยพับ หรือรอยขีด) ส่วนเงินบาทไทยสามารถใช้ซื้อขายสินค้าตามท้องตลาดของกัมพูชา (โดยเฉพาะในพื้นที่ติดชายแดนไทย) สำหรับชาวจีนสามารถชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินหยวน ผ่านรหัส QR ทั้งนี้ ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ขยายความร่วมมือกับนานาประเทศในการชำระเงินแบบดิจิทัลข้ามพรมแดน โดยใช้สกุลเงินท้องถิ่น ได้แก่ ไทย เวียดนาม ลาว เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และจีน
- ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ:
แบบทุนนิยม มีนโยบายเปิดเสรีการค้า ภาพรวมเศรษฐกิจกัมพูชาตั้งแต่ปี 2541-2562 เติบโตในอัตราเฉลี่ย 7.7% ต่อปี เป็นผลจากการขยายตัวของภาคการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในปี 2567 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank-ADB) คาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัว 5.8% น้อยกว่าที่รัฐบาลกัมพูชาประเมินไว้ที่ 6.6% จากภาคบริการ การท่องเที่ยว การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป สินค้าเกษตรกรรม รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับจีนด้านการค้า การลงทุน รวมถึงการลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกัมพูชา-จีน อำนวยความสะดวกให้จีนเข้ามาลงทุนในกัมพูชา สำหรับในปี 2568 สถาบันการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชาจะเติบโต 6% จากการขยายตัวของภาคการส่งออก บริการ และการท่องเที่ยว
สมเด็จฯ ฮุน มาแนต ประกาศยุทธศาสตร์เบญจโกณ ระยะที่ 1 (Pentagonal Strategy-Phase I)
เมื่อปี 2566 เพื่อเป็นรากฐานให้บรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2573 โดยส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยืดหยุ่นในภาวะวิกฤต เพิ่มการจ้างงาน ลดความยากจน (กุญแจสำคัญในการพัฒนา 5 ประการ ได้แก่ การพัฒนาประชาชน น้ำ ถนน ไฟฟ้า และเทคโนโลยี) ผลักดันโครงการขยายบริการด้านสาธารณสุข จัดอบรมทักษะอาชีพให้เยาวชนในครอบครัวยากจน จัดตั้งสถาบันช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง พัฒนาให้เศรษฐกิจนอกระบบใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจในระบบ ส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่างภาคเกษตรและภาคการเงิน และส่งเสริมกิจกรรมด้านการเกษตรและการรวมตัวของเกษตรกร ซึ่งเป็นแนวทางดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ และสอดคล้องกับคุณค่า การเติบโตการจ้างงาน ความเท่าเทียม ประสิทธิภาพ และความยั่งยืน (คติพจน์ 5 ประการ)กัมพูชาประกาศข้อเสนอแนะ 5 ประการเพื่อบรรลุเป้าหมายเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2593 (Cambodia Vision 2050) ได้แก่ 1) ส่งเสริมภาคการผลิตเพื่อบริโภคและส่งออก สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป สินค้าเกษตร และสินค้าเกี่ยวกับการท่องเที่ยว 2) ส่งเสริมแนวทาง “เสริมสร้างตลาดเก่า ขยายตลาดใหม่” มุ่งจัดการ
เขตการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี 3) การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รัฐบาลจะส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในท้องถิ่น รวมถึงลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น คลองฟูนันเตโช 4) ดำเนินนโยบายเกี่ยวข้องกับดิจิทัลอย่างจริงจัง เฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจดิจิทัลและการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) และ 5) พัฒนาแผนยุทธศาสตร์เพื่ออำนวยความสะดวกให้หลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) อย่างราบรื่นภายในปี 2572 และลดผลกระทบจากการเสียสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP)ในอนาคต รัฐบาลกัมพูชาจะเพิ่มการหารือและจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ควบคู่กับการหาตลาดส่งออกใหม่ เพื่อบรรลุเป้าหมายหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดภายในปี 2572 ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งท่าอากาศยานนานาชาติ ถนน และเส้นทางรถไฟ ขณะเดียวกัน กัมพูชาเร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตน้ำมันเพื่อการพาณิชย์จากแหล่งน้ำมันบนบกและในอ่าวไทย ร่วมกับส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งคาดหวังให้เป็นหนึ่งในปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจ
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : เรียล (Riel)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 4,059 เรียล (ต.ค.2567)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 126.50 เรียล (ต.ค.2567) ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่นิยมใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐใหม่และไม่มีตำหนิ (ผู้ประกอบการไม่รับธนบัตรที่มีสภาพเก่า มีรอยพับ หรือรอยขีด) ส่วนเงินบาทไทยสามารถใช้ซื้อขายสินค้าตามท้องตลาดของกัมพูชา (โดยเฉพาะในพื้นที่ติดชายแดนไทย) สำหรับชาวจีนสามารถชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินหยวน ผ่านรหัส QR ทั้งนี้ ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ขยายความร่วมมือกับนานาประเทศในการชำระเงินแบบดิจิทัลข้ามพรมแดน โดยใช้สกุลเงินท้องถิ่น ได้แก่ ไทย เวียดนาม ลาว เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และจีน
- การทหาร:
กองทัพแห่งชาติกัมพูชา (The Royal Cambodian Armed Forces -RCAF) ทำหน้าที่รักษาอธิปไตยของชาติจากภัยคุกคามทั้งในและนอกประเทศตามนโยบายของรัฐบาลกัมพูชา โดยมี กห.ควบคุมบังคับบัญชา ประกอบด้วย บก.ทสส. ทบ. ทร. ทอ. และหน่วย Gendarmerie (คล้าย สห. แต่มีสถานะเทียบเท่าเหล่าทัพ ทำหน้าที่คุ้มกันผู้นำพร้อมครอบครัว) กำลังพล (ปี 2566) จำนวน 124,300 นาย แบ่งเป็น บก.ทสส. และ ทบ. 75,000 นาย ทร. 2,800 นาย ทอ. 1,500 นาย และกองกำลังภูมิภาคทหาร 45,000 นาย ขณะที่หน่วย Gendarmerie ตร. และกองกำลังเสริมรวม 67,000 นาย การประกอบกำลังยึดหลักนิยมของประเทศสังคมนิยมเช่นเดียวกับกองทัพเวียดนาม แบ่งเขตรับผิดชอบเป็น 6 ภูมิภาคทหาร (ภูมิภาคทหาร 1-5 และภูมิภาคทหารพิเศษดูแลพื้นที่ราชธานีพนมเปญ) กำลังพลส่วนใหญ่วางกำลังในภูมิภาคทหารที่ 4 และ 5 (ด้านชายแดนไทย) รวมประมาณ 22,672 นาย และส่งกำลังพลเข้าร่วมกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในซูดาน เลบานอน ซูดานใต้ และแอฟริกากลาง รวม 615 นาย
งบประมาณด้านการทหารปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 1,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 18% จาก
ปี 2565 การเกณฑ์ทหาร ชาย-หญิงอายุ 18-30 ปีต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร โดยผู้ชายใช้การจับฉลาก และผู้หญิงเข้าร่วมโดยสมัครใจ ระยะเวลารับราชการทหาร 18 เดือน - สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ:
กัมพูชาเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศและกลุ่มความร่วมมือรวม 43 องค์การ ที่สำคัญ ได้แก่ ADB, ARF, ASEAN, FAO, G-77, ILO, IMF, IMO, Interpol, NAM, UN, UNCTAD, UNESCO, UNWTO, WHO และ WTO
- การขนส่งและโทรคมนาคม:
ระบบขนส่ง 1) ทางอากาศ มีท่าอากาศยานนานาชาติและท่าอากาศยาน 16 แห่ง ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ 1 แห่ง ที่สำคัญคือ ท่าอากาศยานนานาชาติพนมเปญ ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ-อังกอร์ (เปิดให้บริการเมื่อ 16 ต.ค.2566) ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดพระสีหนุ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างท่าอากาศยานขนาดใหญ่อีก 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานนานาชาติ Dara Sakor จ.เกาะกง ที่อยู่ระหว่างทดสอบทางเทคนิค เริ่มเปิดให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศเมื่อ พ.ย. 2567 และท่าอากาศยานนานาชาติเตโช-ตาเขมา จ.กันดาล (ทดแทนท่าอากาศยานนานาชาติพนมเปญ) ก่อสร้างแล้วเสร็จ 84% และทดสอบทางเทคนิคการบินเมื่อ ก.ย.2567 คาดว่าจะเปิดใช้งานในปี 2568 2) ทางรถไฟ 642 กม. จากเมืองศรีโสภณ จ.พระตะบอง-ราชธานีพนมเปญ-สีหนุวิลล์ ขณะที่ทางรถไฟจาก จ.พระตะบอง-ปอยเปต เพื่อเชื่อมกับ จ.สระแก้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงเส้นทาง 3) ทางถนน 44,709 กม. ลาดผิวพื้น 3,607 กม. เส้นทางหลวงสายหลักคือ สาย 1-7 จากราชธานี-พนมเปญไปยังจังหวัดชายแดน คือ สวายเรียง ตาแกว กัมปอต พระสีหนุ พระตะบอง บันเตียเมียนเจย กัมปงจาม ตามลำดับ และ เมื่อ ต.ค.2565 กัมพูชาเปิดใช้งานทางด่วนเชื่อมต่อระหว่างราชธานีพนมเปญ-จ.พระสีหนุ และ 4) ทางน้ำ 3,700 กม. มีท่าเรือขนาดใหญ่ 4 แห่ง ที่ราชธานีพนมเปญ (แม่น้ำโขง) จ.เกาะกง และ จ.พระสีหนุ (2 แห่ง) อยู่ระหว่างการก่อสร้างท่าเรือใน จ.แกบ และ จ.กัมปอต
โทรคมนาคม บริการโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงพอต่อความต้องการ มีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์จำนวน 5 ราย คือ Cellcard, Smart, Viettel, Cooltel และ SeaTeland ผู้ใช้โทรศัพท์พื้นฐาน 236,962 เลขหมาย (ปี 2565) โทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอินเทอร์เน็ต 21.9 ล้านเลขหมาย (ต.ค.2567) เพิ่มขึ้น 5.2% จากปี 2564 (20.8 ล้านหมายเลข) โทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้กันมากทั้งในเขตเมืองและชนบท รหัสโทรศัพท์ระหว่างประเทศ +855 มีบริการเพียงพอติดต่อได้กับทุกประเทศ แต่ค่าบริการสูง สื่อสารมวลชน มีสถานีโทรทัศน์ทั้งของรัฐและเอกชนรวม 19 สถานี และมีโทรทัศน์ระบบเคเบิลและระบบดาวเทียม มีสถานีวิทยุประมาณ 221 แห่ง เป็นของรัฐ 1 แห่ง อินเทอร์เน็ตมีผู้ให้บริการ 38 ราย ผู้ใช้บริการ 17.82 ล้านคน (ต.ค.2567) รหัสอินเทอร์เน็ตประเทศ .kh
- การเดินทาง:
สายการบินไทยมีเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-ราชธานีพนมเปญ ทุกวัน ระยะเวลาในการบินประมาณ 1 ชม. 10 นาที นอกจากนี้ การบินไทยเริ่มให้บริการเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-จ.เสียมราฐ ทุกวัน เมื่อ ธ.ค.2566 ระยะเวลาในการบินประมาณ 1 ชม.
- สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม:
1) ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การหลอกลวงทางโทรศัพท์ (scams) แรงงานผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ การลักลอบตัดไม้ ยาเสพติด และสินค้าเถื่อนตามแนวชายแดน
2) การแก้ปัญหาพิพาทเขตแดนระหว่างกัมพูชากับประเทศเพื่อนบ้าน
3) บทบาทของมหาอำนาจในกัมพูชาทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการทหาร
4) ความเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านกัมพูชาในต่างประเทศ ซึ่งอาจใช้ไทยเป็นพื้นที่เคลื่อนไหว หรือทางผ่านเพื่อเดินทางเข้ากัมพูชา
5) วิวาทะประเด็นด้านสังคม-วัฒนธรรมระหว่างไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ที่อาจลุกลามกระทบความสัมพันธ์ทวิภาคี
- ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา:
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 19 ธ.ค.2493 ภาพรวมความสัมพันธ์ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างราบรื่น บนพื้นฐานการยึดมั่นนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนการเยือนทุกระดับร่วมกับการส่งเสริมความร่วมมือรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน แรงงาน การศึกษา การสาธารณสุข การท่องเที่ยว รวมถึงการปราบปรามอาชญากรรมข้ามแดนร่วมกัน อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ทวิภาคีมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากปัญหาเขตแดนทางบกและพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไหล่ทวีปในอ่าวไทย
กัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 2 ครั้ง สาเหตุจากข้อพิพาท ครั้งที่ 1 เมื่อ 24 พ.ย.2501 และสถาปนาความสัมพันธ์กลับคืนเมื่อปี 2502 ครั้งที่ 2 เมื่อ 23 ต.ค.2504 สถาปนาความสัมพันธ์กลับคืนเมื่อปี 2509 ขณะที่ไทยลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตเหลือเป็นระดับอุปทูต 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 จากเหตุการณ์เผา สอท.ไทย ณ กรุงพนมเปญ เมื่อ 30 ม.ค.2546 กลับสู่ระดับปกติเมื่อ 31 พ.ค.2546 และครั้งที่ 2 เมื่อ 5 พ.ย.2552 กรณีแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชาและที่ปรึกษาส่วนตัวของ อดีต นรม.ฮุน เซน ความสัมพันธ์กลับสู่ระดับปกติ เมื่อ 24 ส.ค.2553
แนวโน้มความสัมพันธ์ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่ของทั้งสองประเทศคาดว่าจะราบรื่นและแน่นแฟ้นมากขึ้น จากความใกล้ชิดระดับพรรคแกนนำรัฐบาล และนโยบายที่สอดคล้องกัน โดยมุ่งเน้นการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการแก้ปัญหาพิพาทเขตแดน และการหลอกลวงทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตข้ามชาติ โดย เมื่อ 7 ก.พ.2567 สมเด็จฯ ฮุน มาแนต นรม.กัมพูชา เยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก และพบหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน อดีต นรม.ไทย ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ และล่าสุด เมื่อ 9 ต.ค.67 นรม.แพทองธาร ชินวัตร พบหารือทวิภาคีกับ สมเด็จฯ ฮุน มาแนต นรม.กัมพูชา นอกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ ลาว และเห็นพ้องจะรื้อฟื้นการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat-JCR) รวมถึงจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission for Bilateral Cooperation-JC) ซึ่ง นรม.ไทยตอบรับคำเชิญจะเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ พร้อมเชิญ นรม.กัมพูชาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในอนาคต
ด้านเศรษฐกิจการค้า ไทยเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของกัมพูชา รองจากจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม มูลค่าการค้าทวิภาคีไทย-กัมพูชา เมื่อปี 2566 มีมูลค่า 124,263 ล้านบาท (ประมาณ 3,713 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลง 17% จากปี 2565 กัมพูชานำเข้าจากไทยมูลค่า 96,889 ล้านบาท (ประมาณ 2,895 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่งออก 27,362 ล้านบาท (ประมาณ 817.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยไทยได้ดุลการค้า 69,513 ล้านบาท (ประมาณ 2,077 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคีให้สูงถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 รวมถึงเพิ่มห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ
สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อปี 2566 อยู่ที่ 161,736 ล้านบาท ลดลง 18.05% จากปี 2565 โดยไทยส่งออก 131,979 ล้านบาท ลดลง 19.22% และนำเข้า 29,757 ล้านบาท ลดลง 12.43% ไทยได้ดุลการค้า 102,223 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รถยนต์นั่ง ยานพาหนะอื่น ๆ และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ สินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ ผ้าผืนและด้าย สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ปุ๋ย และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีอื่น ๆ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ผักและของปรุงแต่งจากผัก อะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ ลวดและสายเคเบิล ที่หุ้มฉนวนทองแดงและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป สัตว์น้ำ เหล็ก เครื่องจักรไฟฟ้าใช้ในอุตสาหกรรม มอเตอร์ไฟฟ้า ชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ผลไม้และของปรุงแต่งจากผลไม้
การลงทุน หลังจากกัมพูชามีกฎหมายการลงทุนเมื่อปี 2537 จนถึงปี 2564 ไทยลงทุนในกัมพูชาทั้งสิ้น 1,046.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 9 เมื่อปี 2565 ไทยลงทุนในกัมพูชามากกว่า
2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่กัมพูชาลงทุนในไทย 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 8%ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทย-กัมพูชา : การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (1 ม.ค.2537) การจัดตั้งคณะกรรมการชายแดน (29 ก.ย.2538) สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (6 พ.ค.2541) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (14 มิ.ย.2543) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน (18 มิ.ย.2544) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน (31 พ.ค.2546) พิธีสารยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางราชการ (8 ก.พ.2549) การโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับใช้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (5 ส.ค.2552) ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางธรรมดา (17 พ.ย.2553) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 16 ธ.ค.2553 ความตกลงการตรวจลงตราเดียวตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS Single Visa) ระหว่างกัมพูชากับไทย (26 ธ.ค.2555) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 ธ.ค.2555 โดยผู้ที่ได้รับการตรวจลงตราเดียวจากกัมพูชาหรือไทยจะเดินทางเข้าได้ทั้งกัมพูชาและไทย ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสัญจรข้ามแดนระหว่างประเทศทั้งสอง (11 ก.ค.2558) ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (7 ก.ย.2560) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่
1 ม.ค.2561 นอกจากนี้ ไทยและกัมพูชาอนุญาตให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนสามารถเดินทางระหว่างประเทศโดยใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass) แทนหนังสือเดินทาง (Passport) ตั้งแต่ 1 ก.ค.2567 -
คณะรัฐมนตรี:
นรม. Hun Manet
รอง นรม. Neth Savoeun
Aun Ponmoniroth
Sun Chanthol
Hong Chuon Naron
Say Samal
Sar Sokha
Tea Seiha
Koeut Rith
Sok Chenda Sophea
Vongsey Vissoth
Hun Many
รมต.อาวุโส (เฉพาะคนสำคัญ) Kun Kim
Ho Sitth
Ouk Rabun
Om Yentieng
Ieng Mouly
Pich Sophoan
Prum Sokha
Sok Setha
Osman Hassan
Ly Thuch
Chhem Kieth Rethy
รมว.สำนักนายกรัฐมนตรี Vongsey Vissoth
รมว.กระทรวงมหาดไทย Sar Sokha
รมว.กระทรวงกลาโหม Tea Seiha
รมว.กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ Prak Sokhonn
รมว.กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง Aun Pornmoniroth
รมว.กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง Dith Tina
รมว.กระทรวงพัฒนาชนบท Chhay Rithysen
รมว.กระทรวงพาณิชย์ Cham Nimol
รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ Hem Vanndy
เทคโนโลยี และนวัตกรรม
รมว.กระทรวงแร่และพลังงาน Keo Rattanak
รมว.กระทรวงแผนงาน Bin Trochhey
รมว.กระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา Hang Chuon Naron
รมว.กระทรวงกิจการสังคม ทหารผ่านศึก และฟื้นฟูเยาวชน Chea Somethy
รมว.กระทรวงผังเมือง รังวัด และก่อสร้าง Say Sam Al
รมว.กระทรวงสิ่งแวดล้อม Eang Sophalleth
รมว.กระทรวงทรัพยากรน้ำและอุตุนิยมวิทยา Thor Chetha
รมว.กระทรวงข่าวสาร Neth Pheaktra
รมว.กระทรวงยุติธรรม Koeut Rith
รมว.กระทรวงการตรวจสอบ Sok Soken
รมว.กระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม Chea Vandeth
รมว.กระทรวงสาธารณสุข Chheang Ra
รมว.กระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง Peng Pothinea
รมว.กระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์ Phoeung Sackona
รมว.กระทรวงการท่องเที่ยว Huot Hak
รมว.กระทรวงธรรมการและศาสนา Chay Borin
รมว.กระทรวงกิจการสตรี Ing Kuntha Phavi
รมว.กระทรวงแรงงานและฝึกวิชาชีพ Heng Sour
รมว.กระทรวงสาธารณะประโยชน์ Hun Many
รมต.ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการการบินพลเรือน Gen.Mao Havannall
รมต.ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการกิจการชายแดน Lam Chea
-----------------------------------------------
(ต.ค.2567)